คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10777/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้…” ซึ่งตามหมวด 4 วิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 1 การขอรับชำระหนี้ มาตรา 91 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด… คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน…” บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษแล้วว่า เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด รวมทั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้และหรือมูลหนี้ แม้จะเกี่ยวข้องกันพอที่รวมการสอบสวนและทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าด้วยกันได้ก็ตาม เจ้าหนี้ก็จะต้องยื่นคำร้องหรือคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้เพราะกฎหมายล้มละลายมีเจตนารมณ์ให้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายดำเนินการไปโดยถูกต้องและรวดเร็วเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ลูกหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้อง สำหรับการขอรับชำระหนี้หากให้เจ้าหนี้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้ในส่วนจำนวนหนี้และหรือมูลหนี้ภายหลังพ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว ย่อมทำให้คดีต้องล่าช้าและเป็นการขยายระยะเวลาการขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ทั้งกระทบต่อกระบวนการพิจารณาในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อาทิ การประนอมหนี้ การนับคะแนนเสียงในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและครั้งอื่น เป็นต้น ซึ่งจะต้องทราบจำนวนเจ้าหนี้และหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้บัญญัติกระบวนพิจารณาเรื่องการขอรับชำระหนี้ไว้เป็นกรณีเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ได้
แม้เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมก่อนวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก็ตาม เมื่อพิจารณาว่าคำขอรับชำระหนี้และบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินที่เจ้าหนี้ยื่นไว้เดิมภายในกำหนดระบุหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมที่เจ้าหนี้ยื่นระบุหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ อันเป็นหนี้คนละมูลหนี้และไม่เกี่ยวข้องกันกับมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เดิมและเพิ่มเติมจำนวนหนี้มาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหนี้สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้รวมกับคำขอรับชำระหนี้ที่ยื่นไว้เดิมได้ แต่เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้จึงกระทำมิได้
การที่เจ้าหนี้อ้างว่า เจ้าหนี้เพิ่งตรวจสอบพบว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้ตกแต่งอาคารและสถานที่ทำงานทำให้ต้องขนย้ายสิ่งของและเอกสารรวมทั้งสัญญาต่าง ๆ จากชั้น 2 ไปยังชั้น 10 และพบสัญญารับสภาพหนี้จึงรีบยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมนั้น เจ้าหนี้เพิ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวในภายหลังขณะนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนคำร้อง พฤติการณ์ดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัย หากจะฟังว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษเจ้าหนี้ก็ต้องขออนุญาตขยายระยะเวลาต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดให้บรรดาเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 แต่เจ้าหนี้ก็มิได้ดำเนินการ จึงไม่อาจขยายระยะเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำร้องนี้ได้ การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมมูลหนี้และจำนวนหนี้เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของพันเอก (พิเศษ) พล ลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549
ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2550 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมในมูลหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นเงิน 441,109,233.18 บาท ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมล่วงเลยเวลาซึ่งเจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ยกคำร้องของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ยกคำร้องขอยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมของเจ้าหนี้ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า การยื่นขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้ต้องยื่นภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด รวมทั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้หรือมูลหนี้ก็ต้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเช่นกัน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งศาลในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 แต่ได้เผยแพร่ออกไปยังสาธารณชนครั้งแรกวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 13 กันยายน 2550 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 13,126,877.56 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับไว้ดำเนินการแล้ว ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2550 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมพร้อมคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมในมูลหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมเมื่อล่วงเลยเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้…” ซึ่งตามหมวด 4 วิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 1 การขอรับชำระหนี้ มาตรา 91 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด… คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน…” บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษแล้วว่า เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด รวมทั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้และหรือมูลหนี้ แม้จะเกี่ยวข้องกันพอที่รวมการสอบสวนและทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าด้วยกันได้ก็ตาม เจ้าหนี้ก็จะต้องยื่นคำร้องหรือคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้เพราะกฎหมายล้มละลายมีเจตนารมณ์ให้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายดำเนินการไปโดยถูกต้องและรวดเร็วเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ลูกหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้อง สำหรับการขอรับชำระหนี้หากให้เจ้าหนี้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้ในส่วนจำนวนหนี้และหรือมูลหนี้ภายหลังพ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว ย่อมทำให้คดีต้องล่าช้าและเป็นการขยายระยะเวลาการขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ทั้งกระทบต่อกระบวนการพิจารณาในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อาทิ การประนอมหนี้ การนับคะแนนเสียงในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและครั้งอื่น เป็นต้น ซึ่งจะต้องทราบจำนวนเจ้าหนี้และหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้บัญญัติกระบวนพิจารณาเรื่องการขอรับชำระหนี้ไว้เป็นกรณีเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ได้ แม้เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมก่อนวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันดังที่เจ้าหนี้อ้างก็ตาม เมื่อพิจารณาว่าคำขอรับชำระหนี้และบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินที่เจ้าหนี้ยื่นไว้เดิมภายในกำหนดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 ระบุหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษา เป็นเงิน 13,126,877.56 บาท ส่วนคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมที่เจ้าหนี้ยื่นในวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ระบุหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เป็นเงิน 441,109,233.18 บาท อันเป็นหนี้คนละมูลหนี้และไม่เกี่ยวข้องกันกับมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เดิมและเพิ่มเติมจำนวนหนี้มาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหนี้สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้รวมกับคำขอรับชำระหนี้ที่ยื่นไว้เดิมได้ แต่เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้จึงกระทำมิได้ ส่วนที่เจ้าหนี้อ้างว่า เจ้าหนี้เพิ่งตรวจสอบพบว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2550 เจ้าหนี้ตกแต่งอาคารและสถานที่ทำงานทำให้ต้องขนย้ายสิ่งของและเอกสารรวมทั้งสัญญาต่าง ๆ จากชั้น 2 ไปยังชั้น 10 และพบสัญญารับสภาพหนี้เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคมจึงรีบยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมนั้น เจ้าหนี้เพิ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวในภายหลังขณะนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนคำร้อง พฤติการณ์ดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัย หากจะฟังว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษเจ้าหนี้ก็ต้องขออนุญาตขยายระยะเวลาต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดให้บรรดาเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 แต่เจ้าหนี้ก็มิได้ดำเนินการ จึงไม่อาจขยายระยะเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำร้องนี้ได้ การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมมูลหนี้และจำนวนหนี้เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมได้ ที่ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าหนี้มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share