คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10773/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามทางไต่สวนพันตำรวจโท ธ. และร้อยตำรวจตรี ณ. เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมสอบปากคำจำเลยและเป็นผู้ร่วมจับกุม บ. ก. และ ส. ผู้ต้องหาทั้งสามที่อ้างว่าจับกุมได้จากการให้ข้อมูลของจำเลยก็ตาม แต่พันตำรวจโท ธ. และร้อยตำรวจตรี ณ. มิได้เป็นผู้จับกุมจำเลย บันทึกการสอบปากคำจำเลยกระทำขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 แต่การจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามกระทำในวันที่ 10, 12 และ 14 กรกฎาคม 2555 ตามลำดับ โดยในบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามระบุเหตุที่มีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามได้เนื่องจากสายลับซึ่งไม่ประสงค์ออกนามแต่ต้องการสินบนนำจับแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจในวันเดียวกับที่ทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามแต่ละคนนั้นเอง ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือสายลับกับจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทั้งบันทึกการสอบปากคำของจำเลย ก็ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติกรณีผู้กระทำความผิดได้ให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามคำสั่งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 31/2548 จึงง่ายต่อการจัดทำขึ้นภายหลังและตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงไม่ได้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ อันจะเป็นเหตุให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 8 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 100/2 จำคุก 6 ปี และปรับ 300,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และปรับ 150,000 บาท กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยที่คู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าบันทึกสอบปากคำของจำเลยไม่เป็นไปตามแบบแผนของทางราชการจึงง่ายต่อการจัดทำขึ้นภายหลังและตรวจสอบความถูกต้องไม่ได้ ในบันทึกการจับกุมนายบุญญฤทธิ์ นายกิตติหรือติ และนางสำอางค์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และบุคคลทั้งสามอยู่ในสารบบของเจ้าพนักงานตำรวจอยู่แล้ว จึงอยู่ในวิสัยที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมได้ ข้อมูลของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ประกอบกับยาเสพติดให้โทษของกลางมีปริมาณน้อยกว่าของจำเลยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรา 100/2 ต้องประกอบด้วยเหตุ 2 ประการ คือ 1. ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ 2. ข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ แม้ตามทางไต่สวนของจำเลยมีพันตำรวจตรีวิริยะ พันตำรวจโทธีระชาติ และร้อยตำรวจตรีณัฐพงศ์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมสอบปากคำจำเลยและเป็นผู้ร่วมจับกุมนายบุญญฤทธิ์ นายกิตติและนางสำอางค์ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามได้จากการให้ข้อมูลของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาบันทึกการจับกุมจำเลยตามเอกสารประกอบอุทธรณ์ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามคนดังกล่าวมิได้เป็นผู้จับกุมจำเลย อีกทั้งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาทั้งสามของจำเลยตามบันทึกการสอบปากคำ กระทำขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 แต่การจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามกระทำในวันที่ 10, 12 และ 20 กรกฎาคม 2555 ตามลำดับ โดยในบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามตามเอกสารประกอบอุทธรณ์ปรากฏว่า เหตุที่มีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามได้เนื่องจากสายลับซึ่งไม่ประสงค์ออกนามแต่ต้องการสินบนนำจับแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจในวันเดียวกับที่ทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสามแต่ละคนนั้นเอง ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือสายลับกับจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทั้งบันทึกการสอบปากคำของจำเลยตามเอกสารประกอบอุทธรณ์ ก็ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติกรณีผู้กระทำความผิดได้ให้หรือเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามเอกสารท้ายฎีกาของโจทก์ จึงง่ายต่อการจัดทำขึ้นภายหลังและตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงไม่ได้ กรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ใช้สำหรับความผิดนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนี้ที่จำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา กับทั้งจำเลยได้รับโทษจำคุกมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 3 ปี จนปัจจุบันจำเลยกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวและประกอบอาชีพสุจริต ทั้งยังมีบุตรเยาว์วัยที่ต้องเลี้ยงดูอีก 2 คน ประกอบกับโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ลงแก่จำเลยก็มิได้น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่จำเลยกระทำ โทษจำคุกที่ลงแก่จำเลยจึงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนโทษปรับนั้นต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จำคุก 6 ปี และปรับ 400,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และปรับ 200,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share