แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พินัยกรรมแบบธรรมดาซึ่งผู้ทำพินัยกรรมมิได้เขียนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 การขูดลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ทั้งนี้ตามวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว เมื่อการตกเติมข้อความในพินัยกรรมไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวย่อมมีผลให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่สมบูรณ์ส่วนข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะไม่ว่าข้อความที่ตกเติมจะเป็นข้อสาระสำคัญหรือไม่ก็มีผลเหมือนกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะ จำเลยให้การว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าพินัยกรรมเฉพาะข้อความส่วนที่ตกเติมไม่สมบูรณ์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองต้องกันว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทมีการตกเติมข้อความให้ผู้รับพินัยกรรมได้รับทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นจากเดิม คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกา โจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การตกเติมข้อความดังกล่าวจะมีผลทำให้พินัยกรรมฉบับพิพาทตกเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทชอบด้วยกฎหมายคงไม่สมบูรณ์เฉพาะข้อความที่ตกเติมเพราะไม่มีลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมกำกับไว้ โจทก์ฎีกาว่า การตกเติมข้อความที่จะทำให้ไม่สมบูรณ์เฉพาะข้อความที่ตกเติมจะต้องเป็นข้อความที่ไม่เป็นสาระสำคัญ ไม่ทำให้ผลแห่งพินัยกรรมเปลี่ยนแปลงไป แต่ข้อความที่ตกเติมในพินัยกรรมฉบับพิพาทมีผลทำให้พินัยกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาซึ่งผู้ทำพินัยกรรมมิได้เขียนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 การขูดลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นทั้งนี้ตามวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว เมื่อการตกเติมข้อความในพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ได้ปฏิบัติตามบทมาตราดังกล่าวย่อมมีผลให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่สมบูรณ์ ส่วนข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อความที่ตกเติมจะเป็นข้อสาระสำคัญหรือไม่ก็มีผลเหมือนกัน ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน