คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2556-2557/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(1) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า”ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง
โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ลักษณะการจ้างมิได้ถือเอาการทำงานแต่ละวันเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าจ้าง การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ระหว่างเวลาทำงานเพียงชั่วขณะไม่ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่ม แม้การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงการทำงานไปบ้างและเป็นผลให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการทำงานเป็นการตอบแทน ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ก็มิได้ระบุว่าการละทิ้งหน้าที่หรือหลีกเลี่ยงการทำงานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกรณีร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 38,700 บาท และ 38,520 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 25,800 บาท และ 12,840 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม193,500 บาท และ 192,600 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่ไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ในเวลาทำงาน อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยมีตำแหน่ง วันเข้าทำงาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและกำหนดจ่ายค่าจ้างตามคำฟ้องจำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.1 และมีนโยบายห้ามพนักงานเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ โจทก์ทั้งสองไม่เคยถูกตักเตือนด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือมาก่อน วันเกิดเหตุวันที่ 23 มีนาคม 2544 โจทก์ทั้งสองเข้ากะทำงานระหว่างเวลา 15 ถึง 23 นาฬิกา วันดังกล่าวเวลาประมาณ 22 นาฬิกา โจทก์ทั้งสองและนายพิเศษ มีชัย พนักงานล้างแม่พิมพ์เข้าไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ในห้องเทคนิคเชี่ยนในเวลาทำงาน เป็นการละทิ้งหน้าที่และใช้ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์ของตนเองอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง กรณีจึงมีเหตุสมควรให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 38,700 บาท และ 38,520 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่ไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ในห้องเทคนิคเชี่ยนระหว่างเวลาทำงานในวันเกิดเหตุเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 119(1) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงโจทก์ทั้งสองไม่เคยถูกตักเตือนมาก่อนและโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างรายเดือน ลักษณะการจ้างมิได้ถือเอาการทำงานแต่ละวันเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าจ้าง การที่โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่ไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ในวันเกิดเหตุระหว่างเวลาทำงานเพียงชั่วขณะไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์เพิ่ม แม้การกระทำของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงการทำงานไปบ้างและเป็นผลให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการทำงานเป็นการตอบแทน ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และกรณีไม่ปรากฏว่าเกิดความเสียหายแก่จำเลยหรือไม่เพียงใด ทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ก็มิได้ระบุว่าการละทิ้งหน้าที่หรือหลีกเลี่ยงการทำงานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกรณีร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share