แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องอ้างเหตุในคำขอให้พิจารณาใหม่ว่า นิติกรรมค้ำประกันของผู้ร้องตกเป็นโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ซึ่งจะตกเป็นโมฆะต่อเมื่อถูกบอกล้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีการบอกล้างข้ออ้างดังกล่าวจึงถือว่ามิได้แสดงเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคสอง คำขอให้พิจารณาใหม่จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน จำนวน133,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม2541 หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว หากจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การก็จะชนะคดีเพราะจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันขณะเป็นบุคคลวิกลจริตไม่รู้ผิดชอบและโจทก์ก็ทราบว่าจำเลยที่ 3 วิกลจริต สัญญาค้ำประกันจึงไม่มีผลผูกพัน ขอให้พิจารณาใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ทราบว่าถูกฟ้องมาแต่ต้น จึงไม่มีเหตุสมควรให้พิจารณาคดีใหม่ ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3ได้บรรยายโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลด้วยแล้ว จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง (เดิม) นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในคำขอให้พิจารณาใหม่นั้น เป็นการอ้างเหตุนิติกรรมค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ตกเป็นโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ซึ่งจะตกเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อถูกบอกล้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่หาปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการบอกล้างไม่ ฉะนั้น ข้ออ้างดังกล่าวจึงถือมิได้ว่าได้แสดงเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง ดังนั้น คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องโดยเหตุดังกล่าวมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน