แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนบริษัทได้เซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับบริษัทด้วย และทุกครั้งที่เช็คของบริษัทขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้ผู้เสียหายบางส่วนแล้วออกเช็คฉบับใหม่ให้ผู้เสียหายไว้สำหรับหนี้ส่วนที่เหลือตลอดมา การกระทำของจำเลยที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีเงินชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายได้ การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าบริษัทเป็นผู้ออกเช็คพิพาทให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนทำในนามของบริษัท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และฎีกาว่าผู้เสียหายบีบบังคับให้บริษัทและจำเลยที่ 2 ออกเช็คโดยรู้อยู่แล้วว่าผู้สั่งจ่ายไม่มีความสามารถชำระเงินตามเช็คได้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี คู่ความจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างสืบพยานโจทก์ ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ ๑ ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ลงโทษจำคุก ๑ ปี
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๑ ปี คู่ความจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้แทนบริษัทได้เซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำผิดกับบริษัทฯด้วย และทุกครั้งที่เช็คของบริษัทฯ ขึ้นเงินไม่ได้จำเลยที่๒ จะชำระเงินให้ผู้เสียหายบางส่วน แล้วออกเช็คฉบับใหม่ให้ผู้เสียหายไว้สำหรับหนี้ส่วนที่เหลือตลอดมา การกระทำของจำเลยที่ ๒ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ มีเงินชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายได้ ดังนี้การที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า บริษัทศุภมิตรการเครดิต จำกัด เป็นผู้ออกเช็คพิพาทให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงตัวแทนทำในนามของบริษัทฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และฎีกาอีกว่าผู้เสียหายบีบบังคับให้บริษัทฯ และจำเลยที่ ๒ ออกเช็คโดยรู้อยู่แล้วว่าผู้สั่งจ่ายไม่มีความสามารถชำระเงินตามเช็คได้ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาและเป็นยุติแล้ว จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ ๒.