แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองฝ่ายเดียว จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โจทก์ไม่อาจฟ้องหย่าได้ จำเลยยังประสงค์อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ และแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องแย้งว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดกัน ขอให้บุตรทั้งสองอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ให้จำเลยมีอำนาจปกครอง ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามฟ้องแย้งจำเลยว่า ไม่ประสงค์หย่ากับโจทก์และยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะบิดามารดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลยตามมาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกันแม้ศาลจะมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวได้ หาใช่ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ขอให้โจทก์ปฏิบัติตามฟ้องแย้งได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยนับแต่เดือนสิงหาคม 2555 ถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 8 เดือน เดือนละ 30,000 บาท เป็นเงิน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระให้แก่จำเลยเสร็จและชำระเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนถึงวันที่โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน หากศาลพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดกับจำเลย ขอให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียวโดยให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ต. นับแต่เดือนสิงหาคม 2555 ถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 8 เดือน เดือนละ 20,000 บาท เป็นเงิน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าชำระให้แก่จำเลยเสร็จ กับให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่จำเลยเป็นรายเดือนต่อบุตรผู้เยาว์หนึ่งคนเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่เดือนสิงหาคม 2555 เป็นต้นไป จนกว่าโจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน อุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่นนอกจากนี้ให้ยก (ที่ถูก นอกจากที่แก้ให้คงไว้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น) ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชาย ศ. อายุ 6 ปี กับเด็กหญิง ต. อายุ 2 ปี โจทก์กับจำเลยแยกกันพักอาศัย โดยเด็กชาย ศ. อยู่กับโจทก์ ส่วนเด็กหญิง ต. อยู่กับจำเลย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้น ยังรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีเหตุหย่าจำเลยตามฟ้องพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่มีเหตุหย่าจำเลยตามฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยอมรับว่าเหตุสิ้นสุดแห่งการเป็นสามีภริยาได้เกิดขึ้นแล้ว ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้อีกเพราะถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ออกไปจากบ้านแล้วไม่กลับมาอีก ประกอบกับพยานจำเลยทุกปากต่างเบิกความรับรองว่า จำเลยมีความพร้อมสามารถเลี้ยงดูตนเองและบุตรผู้เยาว์ได้ โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนตัวจำเลย เนื่องจากจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพ แสดงว่าโจทก์มีฐานะดีกว่าจำเลยและสามารถช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยซึ่งเป็นภริยา ตามความสามารถและฐานะของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง แม้โจทก์กับจำเลยจะแยกกันพักอาศัยก็ตาม โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ปรากฏตามฟ้องแย้งจำเลยที่แก้ไขเพิ่มเติมว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดกับจำเลย จำเลยขอให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ให้จำเลยมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงฝ่ายเดียว กับให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่จำเลยเป็นรายเดือน โจทก์มิได้ขอใช้สิทธิเรียกร้องนี้ในระยะเวลาที่โจทก์กับจำเลยยังคงเป็นสามีภริยากัน อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ฟ้องแย้งจำเลยที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมจะมีข้อความระบุว่า หากพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน แต่จำเลยบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่าจำเลยยังประสงค์จะอยู่กันฉันสามีภริยากับโจทก์ โจทก์ไม่เคยใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง จำเลยกับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังรักห่วงใยต่อกัน จำเลยสามารถอบรมเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ขอให้จำเลยมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง และให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่จำเลย แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่า จำเลยไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดจากกันแล้วหรือไม่ และกรณีมีเหตุอันสมควรที่จะให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่กับโจทก์หรือจำเลยตามมาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกัน ดังนั้น แม้ศาลมิได้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ขอให้พิพากษาบังคับโจทก์ปฏิบัติตามคำขอฟ้องแย้งได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายว่า สมควรให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่แก่จำเลยฝ่ายเดียวและโจทก์ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด จำเลยยกปัญหาข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่วินิจฉัยให้ แต่จำเลยฎีกาปัญหาข้อนี้มา โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยใหม่ พฤติการณ์แห่งคดีรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ โดยมิใช่ความผิดของฝ่ายใด โดยเด็กชาย ศ. อยู่กับโจทก์ ส่วนเด็กหญิง ต. กับจำเลย ทั้งโจทก์และจำเลยมีความสามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าจำเลยยังประสงค์อยู่กินกับโจทก์ฉันสามีภริยา การที่โจทก์และจำเลยแยกทางกันอยู่น่าจะเป็นเพียงกรณีชั่วคราว ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและอนาคต เห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ศ. แต่ผู้เดียว ส่วนจำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ต. ผู้เดียวเช่นกัน โดยโจทก์และจำเลยสามารถพบเยี่ยมเยียนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ตามปกติและให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่อยู่ในความปกครองของตนเอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ศ. แต่เพียงผู้เดียว จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ต. แต่เพียงผู้เดียว โจทก์และจำเลยสามารถพบเยี่ยมเยียนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ตามปกติ ให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่อยู่ในความปกครองของตนเอง นอกจากที่แก้ให้คงไว้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาตามฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ