คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์เข้าทำสัญญาดังกล่าวเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในอันที่จะคุ้มครองผู้เยาว์ แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายด้วย การแบ่งทรัพย์มรดกต้องแบ่งกันตามส่วนที่แต่ละคน มีสิทธิได้รับ เมื่อปรากฏว่าทายาทผู้มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรม มี 5 คนโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพียงคนละ 1 ใน 5 ส่วน
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1602/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกอีก ๒ คนเป็นบุตรของนายชั้วและนางชลอน นางชลอนได้ถึงแก่กรรมแล้ว นายชั้วได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินต่าง ๆ ของนายชั้วและนางชลอนให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก และได้ทำหนังสือสัญญายกทรัพย์สินให้โจทก์ทั้งสามกับพวก นายชั้วได้สมรสกับจำเลยและมีบุตร ๑ คน ต่อมานายชั้วถึงแก่กรรมทรัพย์สินตามพินัยกรรมจึงตกได้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกอีก ๒ คน หลังจากนั้นจำเลยได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชั้ว จำเลยไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ตามหนังสือสัญญาการให้และตามสิทธิที่โจทก์ทั้งสามควรได้ในฐานะทายาทโดยธรรม ให้จำเลยจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า ทรัพย์สินตามพินัยกรรมบางรายการนายชั้วได้แบ่งให้โจทก์และทายาทไปแล้ว บางรายการก็ขายไป โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จำเลยได้แบ่งทรัพย์สินให้โจทก์ทั้งสามและทายาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.๖ ซึ่งเรียกว่า “สัญญาประนีประนอม”ระบุไว้ตอนต้นว่า “สัญญาประนีประนอมฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างนางอารมย์(คือจำเลย) และบุตรฝ่ายหนึ่ง กับนางบุษกรนางกำไร นายบัณฑิต (คือโจทก์ทั้งสาม)นายสัมพันธ์ นายสมชาย โดยนางสนองผู้รับมอบอำนาจ บุตรนายชั้วซึ่งเกิดจากนางชลอน อีกฝ่ายหนึ่ง ดังต่อไปนี้” จากนั้นระบุรายการทรัพย์สินว่า รายการใดตกได้แก่ฝ่ายใด และลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายไว้ โดยเฉพาะฝ่ายจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยไว้ เอกสารหมาย ล.๖ นี้ เป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญา และเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ แต่ปรากฏว่าบุตรของจำเลยยังเป็นผู้เยาว์ จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๗๔(๘) ที่ได้ตรวจชำระใหม่ จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์มิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ไม่ปรากฏตามทางพิจารณาว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากศาล จึงขัดกับบทกฎหมายข้างต้น ทั้งมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา ๑๑๓ ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๐๒/๒๕๑๙ ฉะนั้นไม่ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้จะตกได้แก่ฝ่ายโจทก์กับพวก หรือฝ่ายจำเลยกับบุตร ตามที่คู่ความโต้เถียงกันอยู่ ก็บังคับไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในอันที่จะคุ้มครองผู้เยาว์ แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๗ ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖และ ๑๔๒(๕) โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ส่วนปัญหาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้ที่ดินแปลงนี้โดยเหตุอื่นตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ โดยฟังข้อเท็จจริงว่า นายชั้วได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามนายสัมพันธ์และนายสมชาย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายด้วย การแบ่งทรัพย์มรดกต้องแบ่งกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ เมื่อปรากฏว่าทายาทผู้มีสิทธิได้รับที่ดินแปลงนี้ตามพินัยกรรมมี ๕ คน โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละ ๑ ใน ๕ ส่วน เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ ๑ ใน ๕ ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share