คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10704/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง พนักงานสอบสวนเคยเรียกจำเลยทั้งสองไปสอบถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำไว้ตามบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ที่เขียนด้วยลายมือของจำเลยที่ 2 เอง แสดงว่าจำเลยทั้งสองต่างรู้ดีถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่า ทราบและเข้าใจข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งดีแล้ว ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้กล่าวย้ำถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเรื่องที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 , 289 , 339 , 83 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 18,000 บาท แก่ทายาทผู้ตาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 , 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 339 วรรคท้าย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 18,000 บาท แก่ทายาทของผู้ตาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันฆ่าผู้ตายด้วยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยมิได้แจ้งข้อเท็จจริงและรายละเอียดให้จำเลยทั้งสองทราบก่อนว่าคดีมีมูลพอที่จะกล่าวหาจำเลยทั้งสองในเรื่องใด การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง อย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล ศาลฎีกาชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียโดยไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเองหรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดแล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ…” บทบัญญัติดังกล่าวมีใจความโดยสรุปว่า ก่อนแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งรายละเอียดในเรื่องที่กล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบก่อนแล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ มิฉะนั้นคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาอาจเสียไปไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานยันผู้ต้องหาในชั้นพิจารณาคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 (1) แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง พนักงานสอบสวนเคยเรียกจำเลยทั้งสองไปสอบถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรายละเอียดปรากฏตามบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 และบันทึกคำรับสารภาพซึ่งจำเลยที่ 2 เขียนด้วยลายมือตนเอง บันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 และบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองต่างรู้ดีถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนั้น แม้ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันฆ่าผู้ตายด้วยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนไม่ได้กล่าวย้ำถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองต่างรู้ดีว่ามูลคดีที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองเป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องใด ดังจะเห็นได้จากบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสอง ซึ่งจำเลยทั้งสองต่างให้การตรงกันว่า จำเลยทั้งสองทราบและเข้าใจข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบเป็นอย่างดีแล้ว การที่พนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเรื่องที่จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบอีกคำรบหนึ่งไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่อำนาจฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share