คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6), (7) 340, 340, 340 ตรี , 83 โดยคำฟ้องของโจทก์บรรยาย เหตุที่ประสงค์ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยฆ่าผู้ตายเพื่อสะดวกในการปล้นทรัพย์ ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ปกปิดการกระทำผิด ให้พ้นการจับกุมและเอาผลประโยชน์จากความผิดฐานปล้นทรัพย์ เมื่อข้อเท็จฟังได้เพียงว่าจำเลยฆ่าผู้ตาย และศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ในความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว กรณี จึงไม่มีเหตุที่จะมาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา (6) (7) ดังโจทก์ฟ้อง จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้ปืนสั้นเป็นอาวุธติดตัว ทำการปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ นาฬิกาข้อมือ แว่นตา และเงินสด ของ ส. และ ก. ไปโดยทุจริต ในการปล้นทรัพย์ จำเลยกับพวกใช้ปืนยิง ส. ถึงแก่ความตาย ทั้งที่เพื่อสะดวกในการปล้นทรัพย์ ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ปกปิดการกระทำผิด ให้พ้นจากการจับกุม และเอาผลประโยชน์จากความผิดฐานปล้นทรัพย์ ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๖) (๗), ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา (๖) (๗) , ๘๓ ลดโทษแล้วคงจำคุกตลอดชีวิต ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ลดโทษแล้วคงจำคุกคนละ ๒๕ ปี
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาข้อวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า จำเลยทั้งสองฆ่าผู้ตายถึงแก่ความตายโดยเจตนา ปัญหามีว่า จำเลยฆ่า ผู้ตายเพื่อสะดวกที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นและเพื่อเอาประโยชน์ อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำผิดอย่างอื่นดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเหตุที่ประสงค์ให้ลงโทษไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองฆ่าผู้ตายโดยมีเจตนาเพื่อสะดวก ในการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ เอาไว้ซึ่งทรัพย์ และเพื่อเอาผลประโยชน์ อันเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองกับพวกกระทำการปล้นทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ ดังนั้นความผิดฐานปล้นทรัพย์ในคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฆ่าผู้ตายเพื่อสะดวก ที่จะกระทำผิดอย่างอื่น หรือเพื่อเอาประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอย่างอื่น แต่ไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า ความผิดอย่างอื่นนั้นเป็นความผิดเรื่องอะไร นอกจากความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งคดีถึงที่สุดตั้งแต่ต้นพิพากษาแล้ว เหตุนี้จึงไม่มีความผิดอย่างอื่นที่จะนำมาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๖) (๗) ดังโจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน

Share