คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10700/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆเพราะการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แม้ในวรรคสองบัญญัติว่า ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย และสัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิได้รับช่วงสิทธิที่เจ้าของมีอยู่ไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามสัญญาเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ ก็คงมีความหมายเพียงว่าผู้ค้ำประกันชอบที่จะใช้สิทธิบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเองตามมาตรา 226 เท่านั้น การที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1หาทำให้โจทก์มีสิทธิในรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 ไม่ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ที่โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 2 ไปครบถ้วนแล้วโดยผลของมาตรา 572 โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 ทั้งไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 2 ม – 7283 ไปจากจำเลยที่ 1 ในราคา72,392 บาท จำเลยที่ 2 ชำระค่าเช่าซื้อวันทำสัญญา 11,553 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระ24 งวด งวดละ 2,535 บาท ทุกวันที่ 20 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 สิงหาคม2539 โดยโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 2 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 แทนจำเลยที่ 2 ไปจนครบจำนวน จึงรับช่วงสิทธิในรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และมีสิทธิรับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าหนี้อยู่แต่เดิมของจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์จึงขอบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ กับขอริบเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่จำเลยที่ 2 ชำระไว้แล้ว และหักกลบลบหนี้ราคาค่าเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 โจทก์รับช่วงสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยผลแห่งกฎหมายและตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 2 ม – 7283 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบทะเบียนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว ให้จำเลยที่ 2 มอบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 2 ม – 7283 ให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และยอมให้โจทก์ริบเงินค่าเช่าซื้องวดแรกของจำเลยที่ 2 จำนวน 11,553 บาท และยอมให้โจทก์หักกลบลบหนี้ราคาค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์กับจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำสัญญาเช่าซื้อของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาและโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1จนครบถ้วนแล้วโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะไล่เบี้ยเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองให้โจทก์รับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อต้องโอนรถจักรยานยนต์ให้โจทก์หรือให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถจักรยานยนต์ให้แก่โจทก์ จึงให้ยกฟ้อง

ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2543 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจากข้อความเดิมที่ว่า”ผู้เป็นเจ้าหนี้อยู่แต่เดิมของจำเลยที่ 1 ด้วย” เป็นข้อความใหม่ว่า “ผู้เป็นเจ้าหนี้อยู่แต่เดิมของจำเลยที่ 2 ด้วย และโจทก์ยังต้องใช้สิทธิเรียกร้องต่างจำเลยที่ 2 ได้ด้วย”

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลยกฟ้องโจทก์แล้ว จึงให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรรับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน เมื่อได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 แทนจำเลยที่ 2 ไปแล้ว โจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1 โดยผลของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคสอง และโดยผลของสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายคำฟ้องข้อ 3 ที่ระบุให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิได้รับช่วงสิทธิทั้งหลายที่เจ้าของมีอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามสัญญาเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อเมื่อโจทก์ได้รับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงมีสิทธิได้รับช่วงกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้วย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า”ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย” ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้ว โจทก์มีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันเท่านั้น แม้ในวรรคสองบัญญัติว่าผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วยและสัญญาค้ำประกัน ข้อ 3 ระบุให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิได้รับช่วงสิทธิทั้งหลายที่เจ้าของมีอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามสัญญาเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อก็ตาม ก็คงมีความหมายเพียงว่าผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 บัญญัติไว้เท่านั้นการที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1 บรรดามีเหนือจำเลยที่ 2 หาทำให้โจทก์มีสิทธิในรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 ไม่ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 2ไปแล้วโดยผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 ทั้งไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนรถจักรยานยนต์ และฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 เพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระแทนไปตามสิทธิของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้วส่วนที่โจทก์ฎีกาในส่วนที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเพื่อให้คำฟ้องถูกต้องสมบูรณ์พอที่จำเลยทั้งสองจะเข้าใจข้อหาได้ดี และไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบ สมควรอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ และไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2ส่งมอบรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ แม้จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง โจทก์ก็ไม่อาจชนะคดีได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องจึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share