คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นคดีละเมิดขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท แต่เมื่อจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทที่แต่ละคนครอบครองอยู่ได้ซื้อมาจาก พ. และชำระราคาแล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การด้วยพร้อมทั้งขอให้ศาลบังคับตามฟ้องแย้ง ก็หาเป็นเหตุให้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ซึ่งกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์กลับมาเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ การฟ้องแย้งของจำเลยคงมีผลทำให้จำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันด้วยเท่านั้นเมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำนวนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นฟังว่าการซื้อขายที่ดินระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแม้ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้ระบุว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพ. กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขาย พ. มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย แต่ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้ระบุอ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพียงแต่ระบุอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งจำเลยก็ได้มีคำขอท้ายฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมีผลผูกพัน พ. และโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกที่ดินพิพาทแต่ละส่วนแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องแย้งของจำเลย
พ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลย เมื่อ พ. ถึงแก่กรรมทรัพย์มรดกของ พ. ตกทอดแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของพ. เมื่อ พ. มีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่ดำเนินการตามหน้าที่ของ พ. สืบต่อไป

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรก สำนวนที่สอง สำนวนที่สามและสำนวนที่สี่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ตามลำดับ

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสี่สำนวน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมออกจากที่ดินของโจทก์ และขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป กับให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป

จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสี่เป็นเนื้อที่คูหาละประมาณ 2 ตารางวา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งทั้งสี่สำนวน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทในส่วนที่ติดกับตึกแถวเลขที่ 909/21 เนื้อที่ 2 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 1 ในส่วนที่ติดกับตึกแถวเลขที่ 909/25 เนื้อที่ 2 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ในส่วนที่ติดกับตึกแถวเลขที่ 909/27เนื้อที่ 2 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 3 และในส่วนที่ติดกับตึกแถวเลขที่ 909/28 เนื้อที่ 2ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 4 ขนาดที่ดินพิพาทกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ทั้งสี่แปลง โดยให้แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดพิพาท แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสี่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นคดีละเมิดขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ทั้งที่ดินพิพาทก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะให้เช่าได้ คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จำเลยจะให้การและฟ้องแย้งโดยอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็มีผลเพียงแต่ทำให้คดีตามฟ้องแย้งของจำเลยเท่านั้นเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เห็นว่า แม้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จะเป็นคดีละเมิดขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสี่ต่างให้การว่าที่ดินพิพาทที่แต่ละคนครอบครองอยู่นั้น ได้ซื้อมาจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกและชำระราคาแล้ว จำเลยทั้งสี่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้จำเลยทั้งสี่จะฟ้องแย้งมาในคำให้การด้วยพร้อมทั้งขอให้ศาลบังคับตามฟ้องแย้ง ก็หาเป็นเหตุให้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ซึ่งกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์กลับมาเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ การฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวคงมีผลทำให้จำเลยทั้งสี่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันด้วยเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างตกลงกันว่าที่ดินพิพาทราคาตารางวาละ 25,000 บาท คดีทั้งสี่สำนวนพิพาทกันมีเนื้อที่สำนวนละ 2 ตารางวา จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์สำนวนละ 50,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกค่าขึ้นศาลในจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำนวนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงของโจทก์ชอบแล้ว

ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอฟ้องแย้งหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า ประเด็นข้อพิพาทที่จะทำให้โจทก์หรือจำเลยทั้งสี่ชนะคดี คือประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่เท่านั้นส่วนข้ออ้างของจำเลยทั้งสี่ที่ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว โดยนาวาเอกหลวงพินิจกลไกสัญญาว่าจะไปแบ่งแยกโฉนดและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสี่ในภายหลังนั้น แม้โจทก์จะโต้แย้งข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์แล้วก็ตามก็เป็นเพียงการโต้แย้งกันในประเด็นที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเด็นที่ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับของจำเลยทั้งสี่เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นนำเรื่องสัญญาซื้อขายที่โจทก์จำเลยทั้งสี่โต้เถียงกันในฐานะเป็นส่วนประกอบของข้ออ้างที่จำเลยทั้งสี่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของจำเลยทั้งสี่มาใช้เป็นข้อวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทหลัก จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอฟ้องแย้ง อีกทั้งฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ก็มิได้ยกเอาสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้าง และไม่มีการโต้แย้งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่เกี่ยวเนื่องด้วยบุคคลสิทธิอันเกิดแต่สัญญานั้นนับแต่ได้ทำสัญญาจนถึงวันฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจฟ้องแย้งในเรื่องสัญญาดังกล่าวได้ ซึ่งก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยทั้งสี่มิได้อ้างสัญญาดังกล่าวขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำเอาประเด็นที่มิได้มีการโต้แย้งกันอยู่โดยบริบูรณ์ก่อนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ขึ้นมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี จึงเกินคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อรวมพิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นมิได้ชี้สองสถาน ซึ่งหากชี้สองสถานโดยพิเคราะห์คำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วคดีมีประเด็นข้อพิพาทดังนี้

ข้อ 1. จำเลยทั้งสี่ทำละเมิดต่อโจทก์โดยต่อเติมอาคารตึกแถวรุกล้ำที่ดินพิพาทหรือไม่

ข้อ 2. โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่

ข้อ 3. จำเลยทั้งสี่ได้ซื้อที่ดินพิพาทแต่ละส่วนของตนจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกโดยชำระราคาครบถ้วนแล้วหรือไม่

ข้อ 4. จำเลยทั้งสี่ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทเกิน 10 ปีหรือไม่

ข้อ 5. จำเลยทั้งสี่มีสิทธิขอให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสี่หรือไม่

ประเด็นข้อพิพาททั้งห้านี้ แยกออกได้เป็นประเด็นข้อเท็จจริง 4 ข้อ คือ ข้อ 1ถึงข้อ 4 ซึ่งคู่ความจะต้องนำสืบตามที่ตนกล่าวอ้าง ส่วนประเด็นข้อ 5 เป็นประเด็นข้อกฎหมายศาลวินิจฉัยเองได้ เฉพาะประเด็นข้อ 3 และข้อ 4 ภาระการพิสูจน์ตกจำเลยทั้งสี่ที่จะต้องนำสืบให้ครบตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นข้อ 3 นั้น ถ้าจำเลยทั้งสี่นำสืบรับฟังไม่ได้แล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นข้อ 4 เพราะเมื่อขาดข้อเท็จจริงในข้อ 3 เสียแล้ว จำเลยทั้งสี่ก็ไม่มีสิทธิที่จะอ้างเรื่องครอบครองปรปักษ์มายันโจทก์ได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าประเด็นข้อ 3 เป็นประเด็นหลักมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อ 4 ดังโจทก์ฎีกา เนื่องจากจำเลยทั้งสี่อ้างการครอบครองปรปักษ์โดยการซื้อที่ดินพิพาทแต่ละส่วนจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไก โดยจำเลยแต่ละคนชำระราคาครบถ้วน และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยแต่ละคนครอบครองแล้ว และข้ออ้างส่วนนี้ก็เป็นประเด็นหลักแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ที่ระบุว่าจำเลยทั้งสี่ทำละเมิดต่อเติมอาคารตึกแถวรุกล้ำที่ดินพิพาท ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อ 3 พร้อมทั้งฟังต่อไปว่า นาวาเอกหลวงพินิจกลไก ต้องการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ จึงได้มีการรังวัดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการตอกหมุดหลักเขตไว้ แต่ไม่ทันมีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทนาวาเอกหลวงพินิจกลไกได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน เมื่อทรัพย์มรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกตกทอดแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก เมื่อนาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่เนื่องจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลยทั้งสี่ไปแล้วพร้อมทั้งส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ครอบครอง แต่การดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ยังไม่แล้วเสร็จ โจทก์จึงมีหน้าที่ดำเนินการตามหน้าที่ของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกสืบต่อไป คือแบ่งแยกแล้วโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ถือได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟังว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยทั้งสี่เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แม้ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่จะมิได้ระบุว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยทั้งสี่เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย นาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวก็ตาม แต่ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ก็มิได้ระบุอ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพียงแต่ระบุอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งจำเลยทั้งสี่ก็ได้มีคำขอท้ายฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสี่ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าวมีผลผูกพันนาวาเอกหลวงพินิจกลไกและโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกที่ดินพิพาทแต่ละส่วนแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสี่ หาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่แต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาเกินคำขอ ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share