แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมอบที่ดินและอนุญาตให้ ป. เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน มิได้มีผลให้ ป. มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คงมีแต่เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรฯลฯ” นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ป. กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อีกทั้งยังมีผลให้ ป. สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพราะกระทำการขัดต่อระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 7 และข้อ 11 การที่โจทก์ไปรับสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตกทอดทางมรดกของ ป. ได้ ก็มีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์ปกปิดข้อความจริงเรื่อง ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเอาไว้ มิได้แจ้งต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องมีการออกใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ฉบับเดิมมิได้สูญหาย แต่อยู่ในความยึดถือของจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อที่ดิน เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมีข้อตกลงในข้อ 3 ว่า ถ้า ป. อยากได้ที่ดินคืน จะต้องคืนต้นเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงจะคืนที่ดินให้ ป. โจทก์ทราบดีกลับไปขอรับตกทอดทางมรดกซึ่งสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยวิธีอ้างความเท็จว่าต้นฉบับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินสูญหายแล้วมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท การที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์จากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการกับจำเลยตามกฎหมายต่อไป หาทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งเพาะปลูก ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงเลขที่ 178 ระวาง ส.ป.ก.ที่ 4 (1) สารบัญทะเบียนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเลขที่ 1541 เล่ม 16 หน้า 41 อำเภอปักธงชัย (วังน้ำเขียว) จังหวัดนครราชสีมา และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนและขนย้ายโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด กับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 8,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและส่งมอบให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งเพาะปลูกขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงเลขที่ 178 ระวาง ส.ป.ก. ที่ 4 (1) สารบัญทะเบียนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเลขที่ 1541 เล่ม 16 หน้า 41 อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ธันวาคม 2554) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายประกอบ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงเลขที่ 178 ระวาง ส.ป.ก. ที่ 4 (1) สารบัญทะเบียนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเลขที่ 1541 เล่ม 16 หน้า 41 อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มอบสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้นายประกอบเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2531 ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 นายประกอบขายที่ดินดังกล่าวพร้อมส่งมอบการครอบครองทำประโยชน์ให้จำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย นายประกอบถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2543 และโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมได้รับสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตกทอดทางมรดกตามใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ข) ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมอบที่ดินและอนุญาตให้นายประกอบเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน มิได้มีผลให้นายประกอบมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คงมีแต่เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรฯลฯ” นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายประกอบกับจำเลยที่ 1จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 อีกทั้งยังมีผลให้นายประกอบสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพราะกระทำการขัดต่อระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 7 และข้อ 11 การที่โจทก์ไปรับสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตกทอดทางมรดกของนายประกอบได้ก็มีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์ปกปิดข้อความจริงเรื่องนายประกอบขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเอาไว้ มิได้แจ้งต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องมีการออกใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ฉบับเดิมมิได้สูญหาย แต่อยู่ในความยึดถือของจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อที่ดิน เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมีข้อตกลงในข้อ 3 ว่า ถ้านายประกอบอยากได้ที่ดินคืน จะต้องคืนต้นเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงจะคืนที่ดินให้นายประกอบ โจทก์ทราบดีกลับไปขอรับตกทอดทางมรดกซึ่งสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยวิธีอ้างความเท็จว่า ต้นฉบับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินสูญหายแล้วมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท การที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์จากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังที่โจทก์แก้ฎีกาเป็นเรื่องที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการกับจำเลยตามกฎหมายต่อไป หาทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท