คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อกรณีเป็นเรื่องจำเลยในฐานะผู้เช่าต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่า อันเนื่องมาจากจำเลยประพฤติผิดสัญญาเช่า การที่โจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าเป็นเรื่องละเมิดและว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ก็หาอาจนำกฎหมายเรื่องละเมิดมาปรับแก่คดีได้ไม่อายุความที่โจทก์จะฟ้องคดีจึงมีกำหนด 6 เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์ที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2525 จำเลยทำสัญญาเช่าห้องสุขา ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกำแพงเพชรมีกำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยก็ได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นตลอดมา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยเนื่องจากจำเลยมิได้ชำระค่าเช่า และในระหว่างการเช่าจำเลยโดยประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินภายในห้องสุขาสถานีขนส่งดังกล่าวเสียหายรวม 8 รายการ รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 5,862 บาท การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,862 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ระหว่างสัญญาห้องพิพาทมิได้ชำรุดเสียหายความเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์กระทำการฝ่ายเดียว ลับหลังจำเลย การที่โจทก์เข้ายึดครองห้องพิพาทโดยไม่ให้เวลาจำเลยเตรียมส่งมอบห้องพิพาทในสภาพเรียบร้อยภายใน 7 วันตามสัญญาเช่าข้อ 8 นั้น จำเลยถือว่าโจทก์แสดงเจตนาเลือกเอาการเข้ายึดครองห้องพิพาททันที โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายและสิทธิเรียกร้องอื่นใด จำเลยไม่ได้กระทำละเมิด โจทก์ฟ้องคดีนี้เกี่ยวกับสัญญาเช่าเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,862 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดหรือผิดสัญญาเช่าอันจะทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยได้เช่าห้องสุขาซึ่งอยู่ภายในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกำแพงเพชรของโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าและเข้าครอบครองห้องสุขาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2528 ระหว่างสัญญาเช่าห้องสุขาของโจทก์เสียหาย 8 รายการ ต้องซ่อมแซมคิดเป็นเงิน5,862 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยในฐานะผู้เช่าซึ่งมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องดูแลรักษาไม่ใช้ความระมัดระวังเป็นการงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาเช่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมานั้นได้ความว่า ความเสียหายของห้องสุขาทั้ง 8 รายการ เกิดขึ้นในระหว่างเวลาเช่าและฟังได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่จำเลยในฐานะผู้เช่าซึ่งมีหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินที่เช่าให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาเช่า กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่จำเลยในฐานะผู้เช่าจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่า อันเนื่องมาจากจำเลยประพฤติผิดสัญญาเช่า หาใช่เป็นเรื่องละเมิดดังที่ศาลล่างทั้งสองยกขึ้นมาปรับแก้ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ แม้การที่จำเลยกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอาจจะเป็นผิดสัญญาและเป็นเรื่องละเมิดได้ในขณะเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างไรแล้ว เพียงแต่การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยบรรยายว่าเป็นเรื่องละเมิดและในฟ้องบางตอนจะใช้คำว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ก็ไม่อาจจะนำบทกฎหมายในเรื่องละเมิดมาปรับแก่คดีได้ เมื่อฟังได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นเรื่องอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่า และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้โจทก์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2528 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่30 พฤษภาคม 2529 เกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 เช่นนี้คดีโจทก์จึงขาดอายุความ …”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share