คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3875/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 179 โดย พ.ผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น ได้ขายและโอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ แต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นชื่อโจทก์โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโจทก์ยื่นคำขอรังวัดเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3)เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) ในชื่อของโจทก์ต่อจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่ามีชื่อพ.เป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3)เลขที่ 179 แม้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอให้จำเลยทั้งสองเปลี่ยนแปลงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) นั้น ให้เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3ก.) ในชื่อของโจทก์ให้แก่โจทก์ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะยื่นคำขอเช่นนั้นได้ การที่จำเลยทั้งสองไม่รับดำเนินการให้ตามที่โจทก์ยื่นคำขอ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการในตำแหน่งนายอำเภอเมืองนครราชสีมา มีหน้าที่ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์การเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศ จำเลยที่ 2เป็นข้าราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองนครราชสีมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับคำขอและดำเนินการเกี่ยวกับคำของานที่ดินตามที่จำเลยที่ 1มอบหมายในสายงาน โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 179เล่ม 124 หน้า 36 ที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ 5 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 12) ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เดิมเป็นของนายพุ่ม สูงใหม่ และนายพุ่มได้ขายด้วยการโอนสิทธิการครอบครองในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2515 โจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องสืบมาจนปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2521 นายพุ่มเจ้าของที่ดินเดิมได้ถึงแก่ความตาย โจทก์ได้ยื่นคำขอรังวัดเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3ก.) ต่อจำเลยทั้งสองตามระเบียบ แต่จำเลยทั้งสองได้ปฏิเสธไม่รับดำเนินการให้ โดยอ้างว่าได้ตรวจหลักฐานแล้วมีชื่อนายพุ่ม สูงใหม่เป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองดำเนินการรังวัดเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 179 เล่ม 124 หน้า 36 ตำบลโคกกรวดอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) ให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเพียงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 179 เล่ม 124 หน้า 36 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยนายพุ่ม สูงใหม่ ผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) นั้น ได้ขายและโอนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2515 แต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เป็นชื่อโจทก์ โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ยื่นคำขอรังวัดเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) ในชื่อของโจทก์ต่อจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่ามีชื่อนายพุ่มเป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่า โจทก์มิได้มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 179 เล่ม 124 หน้า 36 ตำบลโคกกรวดอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา แม้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอให้จำเลยทั้งสองเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) นั้น ให้เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) ในชื่อของโจทก์ให้แก่โจทก์ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะยื่นคำขอเช่นนั้นได้ การที่จำเลยทั้งสองไม่รับดำเนินการให้ตามที่โจทก์ยื่นคำขอนั้น จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว”
พิพากษายืน

Share