คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาอย่างคนอนาถา เมื่อแพ้คดีชั้นฎีกาศาลฎีกาให้จำเลยซึ่งมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและทำสัญญาจำนองไว้แก่โจทก์ เสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนที่ได้รับยกเว้นทั้งหมด ถ้าไม่ชำระก็ให้เอาชำระจากทรัพย์สินที่จำนอง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,266,221.35 บาท ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองตามฟ้อง ถ้าไม่ชำระเงินหรือไม่ไถ่ถอนจำนอง ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบถ้วน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน4,588,593.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองฎีกาอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์จริง แต่ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เลยนั้น จำเลยมิได้เคยให้การต่อสู้ไว้เช่นนั้นอ้างอิงในชั้นฎีกาหาได้ไม่ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นควรให้โอกาสจำเลยเลื่อนไปสืบพยานตามคำร้องของจำเลยลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 นั้น ปรากฏว่าก่อนถึงวันนัดดังกล่าว จำเลยได้ขอเลื่อนมาแล้ว 2 นัดคือวันที่ 5 ตุลาคม 2524 นัดหนึ่งและวันที่ 18 พฤศจิกายน 2524 อีกนัดหนึ่ง ซึ่งในนัดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2524 นั้น ศาลก็ได้กำชับไว้แล้วว่าจะไม่ให้เลื่อนในนัดต่อไปอีก แต่แล้วเมื่อถึงนัดต่อไปคือวันที่ 23 ธันวาคม 2524 จำเลยก็ยังคงขอเลื่อนอีก โดยเฉพาะประด็นที่จำเลยจะขอเลื่อนเพื่อนำสืบว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญากู้ สัญญาค้ำประกันหรือสัญญาจำนองใด ๆ กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 ก็ได้เบิกความยอมรับต่อศาลไว้แล้วว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเหล่านั้นไว้จริง ซึ่งเป็นการสมจริงตามคำฟ้องของโจทก์อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลอันสมควรประการใดที่จะให้เลื่อนไปเพื่อสืบพยานจำเลยต่อไปอีก ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ให้เลื่อนชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน และโดยที่ปรากฏว่าจำเลยผู้ฎีกามีทรัพย์สินคือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองถึง 11 โฉนด ซึ่งพอจะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้โดยไม่อยู่แล้วตั้งแต่ขณะขอฎีกาอย่างคนอนาถา จึงให้จำเลยทั้งสองเสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนที่ได้รับยกเว้นทั้งหมด โดยกำหนดค่าทนายความใช้แทนโจทก์ในชั้นฎีกาเป็นเงิน 5,000 บาท ถ้าจำเลยไม่ชำระก็ให้เอาชำระจากทรัพย์สินที่จำนองทั้ง 11 โฉนดดังกล่าวนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 159 วรรคท้าย”

Share