แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ได้รู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยทั้งเก้าแล้วตามรายงานของคณะกรรมการสอบสวนที่โจทก์ตั้งขึ้นชุดแรก ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2523 แม้คณะกรรมการดังกล่าวจะสรุปความเห็นว่ามีผู้ต้องรับผิดชอบเพียงสองคนคือจำเลยที่ 6 และที่ 8 ก็ตามการที่โจทก์ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นสอบสวนในเรื่องเดิมคงเป็นเพียงวิธีการของโจทก์เพื่อจะรู้ว่ายังมีใครอีกบ้างที่จะต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่โจทก์ยังไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ มิฉะนั้นอายุความหนึ่งปีที่กฎหมายกำหนดไว้ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่มูลละเมิดก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ ดังนั้นเมื่อนับจากวันที่ 30 เมษายน 2523 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้พ้นกำหนดเวลา 1 ปีแล้วฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้ากระทำละเมิดทำให้เงินของโจทก์สูญหายไปสองล้านบาทโดยขอให้จำเลยร่วมกันใช้เงินที่หายไปพร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งเก้าให้การทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้กระทำละเมิด และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งตามรายงานคณะกรรมการสอบสวนเอกสารหมาย ล.6 ว่า เมื่อระหว่างตั้งแต่เวลาประมาณ 21 ถึง 4 นาฬิกา ของคืนวันที่ 8 และ 9ตุลาคม 2522 ต่อเนื่องกัน ได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนเข้าไปในห้องประชาสัมพันธ์กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำลายตราครั่งปิดทับเงื่อนเชือกที่รัดรอบตู้นิรภัยซึ่งตั้งอยู่ในห้องดังกล่าวใช้กุญแจไขเปิดตู้นิรภัยแล้วลักเอาเงินสดของทางราชการจำนวน2,335,420 บาท ที่เก็บรักษาในตู้นิรภัยนั้นไปได้ในช่วงเวลาดังกล่าวและเวลาต่อมา จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ทำหน้าที่เวรเฝ้าตู้นิรภัยดังกล่าวภายใต้การควบคุมดูแลของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นหัวหน้าเวรในช่วงวันเวลาที่เงินสูญหาย จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินโดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ถือลูกกุญแจตู้นิรภัยคนละดอกตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 เอกสารหมาย จ.8 และการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการเก็บรักษาเงินของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5อยู่ในความบังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านการเงิน ซึ่งแสดงว่าโจทก์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องและประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ตั้งแต่ขณะได้รับรายงานเอกสารหมาย ล.6แล้ว ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ 2เกี่ยวกับการบังคับบัญชาให้จำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ทำหน้าที่เวรรักษาสถานที่ราชการตลอดจนการดูแลรักษาตู้นิรภัยซึ่งเก็บรักษาไว้ในห้องประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการตำรวจนครบาลให้เป็นไปโดยเคร่งครัด อันเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ตลอดจนเอกสารหมาย จ.8, จ.9, จ.10 และ จ.11อันเป็นระเบียบการต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างในฟ้องก็เป็นที่รู้ประจักษ์ชัดอยู่แก่โจทก์แล้ว ก่อนที่โจทก์ได้รับรายงานเอกสารหมาย ล.6เมื่อได้ความว่าโจทก์ได้รับเอกสารหมาย ล.6 เมื่อวันที่ 30เมษายน 2523 ก็เชื่อได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งเก้าเป็นผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน2523 เป็นอย่างน้อย แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2524พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2523 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 448 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่โจทก์ฎีกาว่า ขณะโจทก์ได้รับรายงานเอกสารหมาย ล.6 เมื่อวันที่30 เมษายน 2523 โจทก์คงได้ทราบรายละเอียดแห่งการละเมิดและได้ทราบผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงบางคน โจทก์จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง และจากรายงานตามเอกสารหมายจ.12 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2524 โจทก์จึงได้รู้รายละเอียดแห่งการละเมิด และผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นและนับจากวันที่ 5 มิถุนายน 2524 ถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 1 ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เอกสารหมาย จ.12 โดยละเอียดแล้ว เห็นว่าแม้ตามข้อความในเอกสารหมาย จ.12 จะปรากฏชัดขึ้นเกี่ยวกับจำนวนผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ก็มิได้หมายความว่าโจทก์เพิ่งรู้ แท้จริงแล้วโจทก์ได้รู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมว่าเป็นจำนวนทั้งเก้าแล้วตั้งแต่วันที่ 30เมษายน 2523 ขณะได้รับรายงานเอกสารหมาย ล.6 จากคณะกรรมการชุดแรกที่โจทก์ตั้งขึ้นดังได้วินิจฉัยมาแล้วในตอนต้นเพราะฉะนั้น การที่โจทก์ตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นสอบสวนในเรื่องเดิมและอ้างว่าเพิ่งทราบตัวผู้จะพึงต้องรับผิดฐานละเมิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2524 ตามเอกสารหมาย จ.12 คงเป็นเพียงวิธีการที่จะรู้ว่ายังมีใครอีกบ้างที่จะพึงต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่โจทก์ยังไม่รู้ตัว ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ มิฉะนั้นอายุความหนึ่งปีที่กำหนดไว้ก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน