แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายซึ่งเป็นร้านค้าขายของด้วยแล้วเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องนอนของผู้เสียหายซึ่งเก็บเงินสด สร้อยคอทองคำและแหวนทองคำ ในขณะที่ผู้เสียหายกับภรรยาและบุตรกำลังรับประทานอาหารอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้านเช่นนี้ ชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยโดยชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะลักทรัพย์ของผู้เสียหาย แต่มีคนเข้ามาซื้อของ ผู้เสียหายจึงเห็นจำเลยหลบซ่อนอยู่ในห้องนอนเสียก่อน จำเลยจึงเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปไม่ได้ แม้จำเลยจะยังไม่ทันแตะต้องทรัพย์ของผู้เสียหาย ก็ถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดเข้าขั้นพยายามลักทรัพย์แล้ว (ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปซ่อนตัวอยู่ภายในบ้านของผู้เสียหาย แล้วบังอาจลักเงินสด และทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในบ้านของผู้เสียหายจำเลยลงมือกระทำผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เนื่องจากผู้เสียหายได้พบและขัดขวางการกระทำผิดของจำเลยเสียก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 335, 364
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) ประกอบด้วยมาตรา 80 มาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ระวางโทษตามมาตรา 335 (8) ประกอบด้วยมาตรา 80 ที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกจำเลย6 เดือน คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 จำคุก 2 เดือน ปรับ 1,000 บาท ชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี คำขอ ของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายซึ่งเป็นร้านค้าขายของด้วย แล้วเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องนอนของผู้เสียหายซึ่งเก็บเงินสดสร้อยคอทองคำและแหวนทองคำ ในขณะที่ผู้เสียหายกับภรรยาและบุตรกำลังรับประทานอาหารอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้าน เช่นนี้ ชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยโดยชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะลักทรัพย์ของผู้เสียหายแต่มีนายวิม รังศิริรักษ์ เข้ามาซื้อของ ผู้เสียหายจึงเห็นจำเลยหลบซ่อนอยู่ในห้องนอนเสียก่อน จำเลยจึงเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปไม่ได้แม้จำเลยจะยังไม่ทันแตะต้องทรัพย์ของผู้เสียหายก็ถือว่า จำเลยลงมือกระทำความผิดเข้าขั้นพยายามลักทรัพย์ตามกฎหมายแล้ว…
อนึ่ง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่ศาลฎีกาก็ไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น’