คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10668/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 26 ได้บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การ” แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะนำมาใช้บังคับได้เฉพาะในกรณีที่สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการอยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแล้วเท่านั้น และเมื่อคดีรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้แก้ไขฟื้นฟูฐานะตามแผนที่จำเลยที่ 2 เสนอเช่นนี้ โจทก์จะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวมาเป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์หาได้ไม่ เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำเลยที่ 2 ค้างชำระแก่โจทก์ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และ 16 (3) แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โจทก์จึงต้องอยู่ในบังคับของหลักเกณฑ์ตามประกาศดังกล่าว ซึ่งตามประกาศดังกล่าวข้อ 3.2 เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งให้ระงับกิจการที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 ของพระราชกำหนดดังกล่าวต้องให้ความยินยอมที่จะไม่ฟ้องคดีสถาบันการเงินนั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้ไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเท่ากับว่า โจทก์ต้องผูกพันตามข้อกำหนดในการยินยอมที่จะไม่ฟ้องสถาบันการเงินนั้นเป็นคดีต่อศาลด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,045,827,733.49 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 826,314,317.45 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,045,827,733.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 826,314,317.45 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 30 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 826,314,317.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน (ที่ถูกต้องระบุวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยในต้นเงินแต่ละจำนวนที่โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 พร้อมอัตราดอกเบี้ยลอยตัวซึ่งปรับเปลี่ยนตามประกาศธนาคารโจทก์ในช่วงก่อนฟ้องมาด้วย) จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 80,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 26 บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายเท่านั้น มิได้ห้ามบุคคลใดฟ้องคดีแพ่งสามัญทั่วไป และตามข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้นั้น ใช้บังคับเฉพาะสำหรับเจ้าหนี้ที่มีความประสงค์จะขอรับชำระหนี้ตามประกาศดังกล่าวเท่านั้นที่จะต้องให้ความยินยอมที่จะไม่ฟ้องสถาบันการเงินเป็นจำเลยในคดีแพ่งนั้น เป็นการตีความตามกฎหมายที่คลาดเคลื่อนต่อเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายดังกล่าว กล่าวคือ ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้นั้นเป็นการออกมาตรการและเงื่อนไขเพื่อการชำระบัญชีของสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งระงับกิจการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ทั้งนี้เพื่อให้การชำระบัญชีเป็นไปโดยเรียบร้อยและรวดเร็ว ดังนั้นบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งระงับกิจการดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ซึ่งตามข้อ 3 ของประกาศดังกล่าว เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งให้ระงับกิจการที่ยื่นคำรับขอชำระหนี้ไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 ของพระราชกำหนดฉบับข้างต้นต้องให้ความยินยอมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 3.2 ที่จะไม่ฟ้องคดีสถาบันการเงินนั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริง โจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้ไว้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เช่นกัน จึงเท่ากับว่า โจทก์ต้องผูกพันตามข้อกำหนดในการยินยอมที่จะไม่ฟ้องสถาบันการเงินนั้นเป็นคดีต่อศาลด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้
เมื่อศาลได้พิจารณาจากพยานโจทก์แล้วคดีจึงฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อคณะกรรมการที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแต่งตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 เคยเสนอแผนการฟื้นฟูฐานะของจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาแล้วแต่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ให้ความเห็นชอบตามแผนการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 2 เสนอนั่นเอง และตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 26 ได้บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การ” แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะนำมาใช้บังคับได้เฉพาะในกรณีที่สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการอยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแล้วเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้แก้ไขฟื้นฟูฐานะตามแผนที่จำเลยที่ 2 เสนอเช่นนี้ โจทก์จะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวมาเป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์หาได้ไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกบทบัญญัติในมาตรา 26 ขึ้นอ้างเป็นเหตุผลสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีแพ่งได้จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อคดีรับฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 ค้างชำระแก่โจทก์ ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และ 16 (3) แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 โจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักเกณฑ์ในประกาศฉบับดังกล่าว ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวในข้อ 3.2 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศนี้จะต้องตกลงให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินกำหนด โดยความยินยอมดังกล่าวจะกำหนดไว้ในข้อ 3.2.1 ของประกาศนี้ กล่าวคือ การยินยอมที่จะไม่ฟ้องสถาบันการเงินเป็นจำเลยในคดีแพ่ง หรือล้มละลาย หรือคดีแรงงาน หรือคดีภาษีอากร หรือบังคับคดีแก่สถาบันการเงิน รวมทั้งจะไม่เสนอข้อพิพาทที่สถาบันการเงินนั้นๆ จะต้องรับผิดหรือชดใช้ค่าเสียหายต่ออนุญาตโตตุลาการในระหว่างเวลาตั้งแต่ยื่นขอรับชำระหนี้ตามประกาศนี้ จนถึงเมื่อผลการจัดสรรเงินครั้งแรกเป็นที่สุด เพื่อที่องค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงินจะได้ดำเนินการจัดสรรเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินชำระคืนแก่เจ้าหนี้ และหากได้ฟ้องสถาบันการเงินเป็นจำเลยอยู่แล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี หรือได้มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว จะดำเนินการถอนฟ้อง หรือถอนการบังคับคดี หรือถอนการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้วแต่กรณีโดยทันที มิฉะนั้นให้ถือว่าเจ้าหนี้นั้นตกลงยินยอมสละสิทธิการขอรับชำระหนี้ตามประกาศนี้ สำหรับเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยที่ขณะยื่นคำขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้ยังมิได้ยื่นฟ้องสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินงานต่อไปได้ ซึ่งหมายความว่าเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะต้องตกลงยินยอมสละสิทธิที่จะฟ้องสถาบันการเงินดังกล่าวเป็นคดีประเภทต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เมื่อเจ้าหนี้ตกลงยินยอมสละสิทธิในการฟ้องคดีแล้ว ย่อมมีผลผูกพันเจ้าหนี้ ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องสถาบันการเงินผู้เป็นลูกหนี้เป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย หรือคดีแรงงาน หรือคดีภาษีอากรจนกว่าผลการจัดสรรเงินครั้งแรกเป็นที่สุด… เมื่อโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ภายหลังจากที่โจทก์ได้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 30 ดังกล่าวแล้ว อันเป็นการยื่นฟ้องภายหลังจากที่โจทก์ตกลงให้ความยินยอมต่อคณะกรรมการดังกล่าวที่จะไม่ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในคดีแพ่งไว้ก่อนแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ได้อีก…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง 80,000 บาท แทนจำเลยที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 นอกนั้นให้เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท

Share