คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6077/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คดีมีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดหรือไม่ และจำเลยได้จ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์แล้วหรือไม่เท่านั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องโต้แย้งให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน และหากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยไม่พอใจ จำเลยย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด คำสั่งนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง เมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธินำคดีสู่ศาลแรงงานตามบทบัญญัติดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถูกส่งไปให้บริษัทจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยมีผู้ลงชื่อรับคำสั่งระบุความเกี่ยวพันกับจำเลยว่าเป็นพนักงานจำเลย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามมาตรา 124 วรรคสาม เมื่อไม่ชำระในกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่เงินตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 459,000 บาท ค่าชดเชย 90,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นที่ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินต่าง ๆ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คดีมีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดหรือไม่ และจำเลยได้จ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์แล้วหรือไม่เท่านั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องโต้แย้งให้เป็นประเด็นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน และหากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดแล้ว จำเลยไม่พอใจ จำเลยย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง หากไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด คำสั่งนั้นเป็นที่สุด ตามมาตรา 125 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามที่บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิไว้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 2/2547 และ 3/2547 (ที่ถูกน่าจะเป็น 2/2546 และ 3/2546) โดยชอบแล้วหรือไม่ และคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นที่สุดแล้วหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการส่งคำสั่งหรือหนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือพนักงานตรวจแรงงานจะนำไปส่งเอง หรือให้เจ้าหน้าที่ไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของนายจ้างในเวลาทำการของนายจ้าง ถ้าไม่พบนายจ้าง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของนายจ้าง หรือพบนายจ้างแต่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมรับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของนายจ้างนั้นก็ได้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่านายจ้างได้รับคำสั่งหรือหนังสือของอธิบดีหรือพนักงานตรวจแรงงานนั้นแล้ว” ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 2/2547 และ 3/2547 (ที่ถูกน่าจะเป็น 2/2546 และ 3/2546) ส่งไปให้บริษัทจำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยมีผู้ลงชื่อรับคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวระบุความเกี่ยวพันกับจำเลยว่าเป็นพนักงานจำเลย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวแล้วตามบทบัญญัติข้างต้น อันถือได้ว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานทั้งสองฉบับโดยชอบแล้ว และเมื่อจำเลยได้รับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 2/2547 และ 3/2547 (ที่ถูกน่าจะเป็น 2/2546 และ 3/2546) วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ตามลำดับแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตามฟ้องให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามมาตรา 124 วรรคสาม ซึ่งตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 2/2547 (ที่ถูกน่าจะเป็น 2/2546) จำเลยต้องชำระค่าจ้างภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไป ส่วนตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 3/2547 (ที่ถูกน่าจะเป็น 3/2546) จำเลยต้องชำระเงินต่าง ๆ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไป สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชยจำเลยต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่เงินตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก เท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองสำนวนฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 2/2547 (ที่ถูกน่าจะเป็น 2/2546) จำนวน 444,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไป จ่ายค่าจ้าง 15,000 บาท ค่าชดเชย 90,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาท ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 3/2547 (ที่ถูกน่าจะเป็น 3/2546) พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าจ้างและค่าชดเชย และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

Share