แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยตกลงกันให้จ่ายค่าจ้างว่าความในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้อง เป็นเพียงการกำหนดกฎเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างว่าความให้คิดเป็นจำนวนร้อยละเท่าใดของทุนทรัพย์ที่ฟ้องซึ่งเป็นจำนวนแน่นอน หาใช่เป็นสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทที่ลูกความจะได้รับเมื่อชนะคดีไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 71,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 24 เดือน เป็นเงิน 10,749 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะทำให้ตกเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาจ้างว่าความที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 โดยถือเอาผลสำเร็จของงานคือ การดำเนินคดีให้แก่จำเลยเป็นเงื่อนไขสำคัญในการจ่ายสินจ้าง การที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้จ่ายค่าจ้างว่าความในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างว่าความที่จำเลยตกลงให้โจทก์คิดค่าจ้างว่าความร้อยละ 10 ของทุนทรัพย์ตามฟ้องนั้น เป็นเพียงการกำหนดกฎเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างว่าความว่าให้คิดเป็นจำนวนร้อยละเท่าใดของทุนทรัพย์ที่ฟ้องซึ่งเป็นจำนวนแน่นอน หาใช่เป็นสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทที่ลูกความจะได้รับเมื่อชนะคดีไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อโจทก์จำเลยได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเสียก่อน เห็นว่า สัญญาจ้างว่าความระบุให้โจทก์ดำเนินคดีต่อศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัส เงินกองทุนเลี้ยงชีพ และค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ปรากฏตามคำฟ้องคดีแรงงาน ที่โจทก์ในฐานะทนายความจำเลยยื่นฟ้องนายจ้างจำเลยเรียกค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัสประจำปีที่ถูกเลิกจ้าง เงินกองทุนเลี้ยงชีพ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 816,658 บาท และตามสำเนาคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างจำเลยรับผิดชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมเป็นเงินเพียง 400,435.20 บาท เท่านั้น โดยมีบางรายการที่จำเลยฟ้องเรียกนั้น จำเลยมีสิทธิได้รับบางส่วน บางรายการไม่มีสิทธิได้รับเลย รวมจำนวนทุนทรัพย์ในส่วนที่จำเลยไม่มีสิทธิได้รับมีสูงถึง 410,000 บาทเศษ การที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความมีความรู้ในเรื่องกฎหมายแรงงาน ย่อมต้องทราบว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องเงินตามกฎหมายในเงินส่วนใดเป็นจำนวนเท่าใดบ้าง แต่โจทก์กลับยื่นฟ้องให้จำเลยเรียกร้องเงินเป็นจำนวนสูงเกินกว่าสิทธิที่จำเลยมีอยู่ตามกฎหมายเป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในคดีให้สูงเกินความจริงเพื่อประโยชน์ในค่าจ้างว่าความที่ตนจะได้รับจากจำเลย ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจถือเอาจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างว่าความตามสัญญาจ้างว่าความได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์ถึงการงานที่โจทก์ได้กระทำประกอบสัญญาจ้างแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าจ้างให้โจทก์ 30,000 บาท เมื่อจำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์แล้ว 10,000 บาท จึงต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้โจทก์อีก 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ