คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ข้อ 131.1 กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าห่อซองหรือการหุ้มห่อสำหรับไปรษณีย์ภัณฑ์ประเภทของตีพิมพ์ว่า”ต้องได้รับการหุ้มห่อในลักษณะที่สิ่งบรรจุภายในได้รับการป้องกันอย่างเพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันจะต้องสามารถเปิดตรวจได้โดยสะดวกรวดเร็ว เช่น ใช้แถบกระดาษพันไว้ ใส่ไว้ในหลอดกระดาษแข็ง ใส่ไว้ในระหว่างกระดาษแข็ง ใส่ซองหรือเครื่องบรรจุที่ไม่ปิดผนึก ใส่ซองหรือเครื่องบรรจุที่ปิดผนึกโดยใช้วิธีการที่สามารถเปิดตรวจและปิดผนึกใหม่ได้โดยสะดวกรวดเร็ว” ซึ่งจะเห็นได้ว่า ของตีพิมพ์นั้นอาจใส่ซองหรือเครื่องบรรจุที่ปิดผนึกก็ได้ แต่ต้องเป็นการใส่ซองหรือเครื่องบรรจุที่ปิดผนึกโดยวิธีการที่สามารถเปิดตรวจและปิดผนึกใหม่ได้โดยสะดวกรวดเร็ว แต่ของตีพิมพ์ของโจทก์เป็นนิตยสารซึ่งโจทก์เข้าห่อซองโดยบรรจุในซองกระดาษขาว ใช้เทปกาวใส ขนาดกว้าง1 เซนติเมตร ปิดทับฝาซองตลอดความยาวของซองและใช้เชือกขาวผูกรัดด้วยเงื่อนตายซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า หากต้องการเปิดตรวจ จะต้องแก้หรือตัดเชือกขาวที่ผูกรัดด้วยเงื่อนตายออกแล้วต้องแกะลอกเทปหรือใช้มีดตัดเทปซึ่งอาจทำให้ซองขาด และไม่อาจปิดผนึกใหม่ได้โดยไม่ใช้เทปใหม่ การเข้าห่อซองของตีพิมพ์ของโจทก์เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการใส่ซองที่ปิดผนึกโดยใช้วิธีการที่สามารถเปิดตรวจและปิดผนึกใหม่ได้โดยสะดวกรวดเร็วตามข้อกำหนดแห่งไปรษณียนิเทศฯ ข้อ 131.1 สำหรับไปรษณีย์ภัณฑ์ประเภทพัสดุย่อย นั้น ตามข้อ 144.1กำหนดว่า จะต้องเข้าห่อซองหรือหุ้มห่อในลักษณะที่อาจเปิดตรวจดูสิ่งของภายในได้โดยไม่ทำให้การหุ้มห่อนั้นเสียสภาพ แต่พัสดุย่อยของโจทก์เป็นตลับเทปคาสเซ็ท 1 ตลับ ซึ่งโจทก์เข้าห่อซองโดยบรรจุในซองกระดาษ ใช้เทปกาวใส ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ปิดทับฝาซองเกือบตลอดความยาวของฝาซอง และใช้เทปกาวใสขนาดเดียวกัน ปิดทับรอบความกว้าง ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าหากต้องการเปิดตรวจดู ก็จะต้องแกะลอกเทปหรือใช้มีดตัดเทป อาจทำให้ซองฉีกขาด และการปิดผนึกก็ต้องใช้เทปใหม่ จึงถือไม่ได้ว่าการเข้าห่อซองพัสดุย่อยของโจทก์เป็นการเข้าห่อซองในลักษณะที่อาจเปิดตรวจดูสิ่งของภายในได้โดยไม่ทำให้การหุ้มห่อนั้นเสียสภาพ ตามข้อกำหนดแห่งไปรษณียนิเทศฯข้อ 144.1 นี้เช่นกัน เมื่อการเข้าห่อซองของตีพิมพ์และพัสดุย่อยของโจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดเฉพาะการหุ้มห่อไปรษณีย์ภัณฑ์ทั้งสองชนิดดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในข้อ 131.1 และ 144.1 แห่งไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524การสื่อสารแห่งประเทศไทยก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่รับฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ของโจทก์ได้ตามข้อ 80 แห่งไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ซึ่งออกตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 4 และประกาศการสื่อสารแห่งประเทศไทย เรื่องให้ใช้ไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ลงวันที่25 มิถุนายน 2524 ดังนั้นจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ทั้งสองชนิดของโจทก์ดังกล่าวได้ และไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายไปรษณีย์โทรเลขรองเมืองจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานไปรษณีย์โทรเลขรองเมือง เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างเดือนมกราคม 2527ถึงเดือนสิงหาคม 2527 โจทก์นำไปรษณีย์ภัณฑ์ประเภทของตีพิมพ์และพัสดุย่อยไปฝากส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขรองเมือง แต่จำเลยที่ 2ปฏิเสธการรับฝากส่งอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามไปรษณียนิเทศพ.ศ. 2524 ข้อ 131, 144 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และไม่มีอำนาจกระทำได้ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 882,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การเข้าห่อซองไปรษณีย์ภัณฑ์ของโจทก์ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดแห่งไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 เป็นการหลีกเลี่ยงการชำระค่าไปรษณียากร โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ข้อ 80การสื่อสารแห่งประเทศไทยอาจปฏิเสธไม่รับฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์หรือพัสดุไปรษณีย์ที่มีการเข้าห่อซองหรือการหุ้มห่อผิดลักษณะดังกล่าวในข้อ 79 ได้ และตามข้อ 79.4 กำหนดว่า การเข้าห่อซองหรือหุ้มห่อไปรษณีย์ภัณฑ์หรือพัสดุไปรษณีย์นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อ 79.1-79.3 ข้างต้นแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเฉพาะการหุ้มห่อไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์แต่ละชนิดในหมวด 8 และหมวด 9อีกด้วย เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าของที่นำไปฝากส่งตามวัตถุพยานหมายวจ.3 เป็นของตีพิมพ์ และตามวัตถุพยานหมาย วจ.4 เป็นพัสดุย่อยจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การเข้าห่อซองหรือการหุ้มห่อวัตถุพยานดังกล่าวถูกต้องตามข้อกำหนดเฉพาะการหุ้มห่อไปรษณีย์ทั้งสองชนิดดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ สำหรับไปรษณีย์ภัณฑ์ประเภทของตีพิมพ์ นั้น มีข้อ 131.1 กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าห่อซองหรือการหุ้มห่อว่า “ต้องได้รับการหุ้มห่อในลักษณะที่สิ่งบรรจุภายในได้รับการป้องกันอย่างเพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันจะต้องสามารถเปิดตรวจได้โดยสะดวกรวดเร็ว เช่น ใช้แถบกระดาษพันไว้ ใส่ไว้ในหลอดกระดาษแข็ง ใส่ไว้ในระหว่างกระดาษแข็ง ใส่ซองหรือเครื่องบรรจุที่ไม่ปิดผนึก ใส่ซองหรือเครื่องบรรจุที่ปิดผนึกโดยใช้วิธีการที่สามารถเปิดตรวจและปิดผนึกใหม่ได้โดยสะดวกรวดเร็ว” ซึ่งจะเห็นได้ว่า ของตีพิมพ์นั้นอาจใส่ซองหรือเครื่องบรรจุที่ปิดผนึกก็ได้แต่ต้องเป็นการใส่ซองหรือเครื่องบรรจุที่ปิดผนึกโดยวิธีการที่สามารถเปิดตรวจและปิดผนึกใหม่ได้โดยสะดวกรวดเร็ว แต่ของตีพิมพ์ของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย วจ.3 ปรากฏว่า เป็นนิตยสารซึ่งโจทก์เข้าห่อซองโดยบรรจุในซองกระดาษขาวใช้เทปกาวใสขนาดกว้าง 1 เซนติเมตรปิดทับฝาซองตลอดความยาวของซองและใช้เชือกขาวผูกรัดด้วยเงื่อนตายเช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่าหากต้องการเปิดตรวจ จะต้องแก้หรือตัดเชือกขาวที่ผูกรัดด้วยเงื่อนตายออก แล้วต้องแกะลอกเทปหรือใช้มีดตัดเทปซึ่งอาจทำให้ซองขาด และไม่อาจปิดผนึกใหม่ได้โดยไม่ใช้เทปใหม่การเข้าห่อซองของตีพิมพ์ของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย วจ.3 เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการใส่ซองที่ปิดผนึกโดยใช้วิธีการที่สามารถเปิดตรวจและปิดผนึกใหม่ได้โดยสะดวกรวดเร็วถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ข้อ 131.1 ส่วนไปรษณีย์ภัณฑ์พัสดุย่อยนั้น ตามข้อ 144.1 กำหนดว่าพัสดุย่อยจะต้องเข้าห่อซองหรือหุ้มห่อในลักษณะที่อาจเปิดตรวจดูสิ่งของภายในได้โดยไม่ทำให้การหุ้มห่อนั้นเสียสภาพ แต่พัสดุย่อยของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย วจ.4 ปรากฏว่าเป็นตลับเทปคาสเซ็ท 1 ตลับ ซึ่งโจทก์เข้าห่อซองโดยบรรจุในซองกระดาษใช้เทปกาวใสขนาดกว้าง 1 เซนติเมตรปิดทับฝาซองเกือบตลอดความยาวของฝาซอง และใช้เทปกาวใสขนาดเดียวกันปิดทับรอบความกว้าง ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า หากต้องการเปิดตรวจดู ก็จะต้องแกะลอกเทปหรือใช้มีดตัดเทป ซึ่งอาจทำให้ซองฉีกขาด และการปิดผนึกก็ต้องใช้เทปใหม่ดังนั้น การเข้าห่อซองพัสดุย่อยของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย วจ.4เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าห่อซองในลักษณะที่อาจเปิดตรวจดูสิ่งของภายในได้โดยไม่ทำให้การหุ้มห่อนั้นเสียสภาพ จึงไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ข้อ 144.1เช่นกัน เมื่อการเข้าห่อซองของตีพิมพ์และพัสดุย่อยตามวัตถุพยานหมาย วจ.3 และ วจ.4 โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดเฉพาะการหุ้มห่อไปรษณีย์ภัณฑ์ทั้งสองชนิดดังกล่าวตามกำหนดไว้ในข้อ 131.1 และ 144.1แห่งไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 การสื่อสารแห่งประเทศไทยก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่รับฝากส่งไปรษณีย์ทั้งสองชนิดของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ตามข้อ 80 แห่งไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ซึ่งออกตามความในมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 4 และประกาศการสื่อสารแห่งประเทศไทยเรื่อง ให้ใช้ไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2524ดังนั้นจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ทั้งสองชนิดของโจทก์ที่เข้าห่อซองไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดแห่งไปรษณียนิเทศพ.ศ. 2524 ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายอีกแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share