แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินมาโดยตลอด จำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภออาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการร่วมชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะ ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 8 เป็นตัวการนำชี้ได้ร่วมกันชี้เขตที่ดินสาธารณประโยชน์อ้างว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะ ซึ่งเกินจากเนื้อที่ดินเดิมทำให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินรังวัดที่สาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะทับที่ดินโจทก์จนเป็นเหตุให้สำนักงานที่ดินได้ประกาศรูปแผนที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหมู่ที่ 4 ตำบลเขาวง อำเภอบ้านตาขุน (คีรีรัฐนิคม) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 78 ไร่ 2 งาน 91 ตารางวาเศษ มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2546 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการร่วมกันชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะเนื้อที่ 25 ไร่ ที่ตั้งอยู่ในท้องที่เดียวกับที่ดินโจทก์ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 8 ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2546 จำเลยทั้งหมดโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ร่วมกันนำชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะโดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 8 เป็นตัวการในการนำชี้เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำเลยทั้งหมดทราบดีว่าที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะที่ทางราชการสงวนไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่ห่างจากที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร แต่จากการนำชี้ดังกล่าวทำให้เนื้อที่ที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเป็นเนื้อที่ 220 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อ้างว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองบางส่วนอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวอันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาบ้านตาขุน รังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะทับที่ดินโจทก์ซึ่งเมื่อสำนักงานที่ดินดังกล่าวได้ประกาศรูปแผนที่ที่อ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะแล้ว โจทก์คัดค้าน แต่ทุกฝ่ายเพิกเฉยขอให้พิพากษาว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะ มีเนื้อที่ดินรวม 25 ไร่ ให้เพิกถอนการนำชี้เพื่อให้ทางราชการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มีเนื้อที่ดิน 220 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา เลขที่ดิน 581 ระวางรูปถ่ายทางอากาศชื่อกิ่งอำเภอพนมหมายเลข 4726/ แผ่นที่ 78, 92 เสีย ให้ศาลแสดงว่าที่ดินภายในเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นของโจทก์ไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ร่วมกันนำชี้เพื่อแก้ไขรูปที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะในส่วนที่ทับที่ดินซึ่งโจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ หากไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเก้า
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องแล้วว่าโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินมาโดยตลอด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายอำเภออาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการร่วมชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 8 เป็นตัวการนำชี้ได้ร่วมกันชี้เขตที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวอ้างว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะ ซึ่งเกินจากเนื้อที่ดินเดิมทำให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินรังวัดที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่สำหรับจำเลยที่ 9 นั้น ไม่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 9 เป็นใคร มีความเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 อย่างไร และกระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 9 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ