คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และภริยาของโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์จึงเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมได้
จำเลยซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมจงใจละทิ้งโจทก์กลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่แท้จริงโดยไม่เคยกลับไปอยู่กับโจทก์อีกเลยเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องกัน ตราบที่จำเลยยังไม่กลับไปอยู่กับโจทก์เหตุที่โจทก์จะฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมก็ยังคงมีอยู่ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ แม้โจทก์ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปี แล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/34 จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางอาภาภรณ์ ภริยาโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมานางอาภาภรณ์ ภริยาโจทก์ถึงแก่ความตาย และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 จำเลยจงใจละทิ้งโจทก์ ขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์และนางอาภาภรณ์ ผู้รับบุตรบุญธรรม ถูกจำเลยทิ้งร้างตั้งแต่แรกรับบุตรบุญธรรมเป็นระยะเวลา 9 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยอยู่ในความอุปการะของโจทก์และนางอาภาภรณ์ ภริยาโจทก์ช่วงระยะเวลาหนึ่งและจำเลยได้จงใจละทิ้งโจทก์ไปตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมท้ายคำฟ้องปรากฏว่าผู้รับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมนั้น คือ โจทก์และนางอาภาภรณ์ ภริยาของโจทก์ จำเลยไม่ได้โต้แย้งเรื่องความสมบูรณ์ถูกต้องของการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม โจทก์จึงเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของนางอาภาภรณ์ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมให้นางอาภาภรณ์รับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นสุดท้ายว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้โจทก์และจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้จงใจละทิ้งโจทก์ไปตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เพียงพอในการใช้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอายุความ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นนี้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยซึ่งจงใจละทิ้งโจทก์ได้กลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่แท้จริงตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 โดยไม่เคยกลับไปอยู่กับโจทก์อีกเลย การจงใจละทิ้งโจทก์ของจำเลยจึงมีพฤติการณ์ต่อเนื่องกัน ตราบที่จำเลยยังไม่กลับไปอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จะฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมก็ยังคงมีอยู่ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ แม้โจทก์ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปี แล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/34 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share