คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10651/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองตกลงซื้อที่ดินกับ ส. ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน และเมื่อไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่ปรากฏว่า มีการแจ้งอายัดที่ดินดังกล่าวไว้ แม้จะมีพิรุธที่มีการจดทะเบียนการโอนจาก ส. ไปยัง ณ. ก่อน แล้วจึงโอนต่อไปให้โจทก์ทั้งสองในวันเดียวกันก็ไม่มีข้อห้ามมิให้กระทำ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องที่ส่อไปในทางทุจริตแต่อย่างใด การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแล้วนำมาแบ่งแยกและว่าจ้างให้ ช. ถมดินและปรับสภาพที่ดินโดยเปิดเผย จึงไม่อาจฟังว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนกระทำการโดยไม่สุจริต และการที่จำเลยรู้เห็นที่โจทก์ทั้งสองถมดินในที่ดินแล้วไม่ขัดขวางหรือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่า ที่ดินมีข้อโต้แย้งฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ ก็ยังไม่อาจถือว่า จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตเช่นกัน
การที่จำเลยได้ที่ดินมาเป็นของตนตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยได้ดินที่โจทก์ทั้งสองถมไว้โดยสุจริตไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้ปรับปรุงถมดินในที่ดินของจำเลยเป็นเวลานานถึง 20 ปีเศษ ดินที่นำมาถมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 จึงไม่อาจคืนดินที่ถมได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยคืนดิน แต่ขอให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับปรุงที่ดิน ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์ทั้งสองเรียกจากจำเลยได้เพียงราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานที่ตั้งของที่ดิน เนื้อที่ดิน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจ และราคาซื้อขายที่ดินในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีแล้ว เห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,200,000 บาท
หนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้เรียกให้จำเลยใช้เงินในกรณีนี้แก่โจทก์ทั้งสองในวันใด จึงต้องถือว่า วันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองเรียกให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ใช้ให้ อันเป็นเหตุให้จำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,465,737.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,515,780 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,515,780 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองตกลงซื้อที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน กับนายสมศักดิ์ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในสารบบจดทะเบียนในโฉนดที่ดินและเมื่อไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่ปรากฏว่า มีการแจ้งอายัดไม่ให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวไว้ เพราะมิฉะนั้นเจ้าพนักงานที่ดินก็ย่อมต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ และไม่ทำนิติกรรมจดทะเบียนให้ นอกจากนี้การที่เจ้าพนักงานที่ดินทำนิติกรรมจดทะเบียนให้ก็แสดงว่า เจ้าพนักงานที่ดินผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต้องตรวจสอบว่าไม่มีการแจ้งอายัด และเป็นการทำนิติกรรมจดทะเบียนที่ถูกต้อง แม้จะมีพิรุธที่มีการทำนิติกรรม จดทะเบียนโอนจากนายสมศักดิ์และนางสุวิมลไปยังนายณรงค์ก่อน แล้วจึงโอนต่อไปให้โจทก์ทั้งสองในวันเดียวกันก็ไม่มีข้อห้ามมิให้กระทำ ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ทราบเรื่องหลังจากได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสองแล้วโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องที่ส่อไปในทางทุจริตแต่อย่างใด และเมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินมาก็ได้แบ่งแยกที่ดินและว่าจ้างให้นายชาลีผู้มีอาชีพรับจ้างถมดินทำการถมดินและปรับสภาพที่ดินโดยเปิดเผย ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่อาจพอฟังว่า โจทก์ทั้งสองมีส่วนกระทำการโดยไม่สุจริตด้วย และการที่จำเลยรู้เห็นที่โจทก์ทั้งสองถมดินในที่ดินดังกล่าวแล้วไม่ขัดขวางหรือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่า ที่ดินนั้นกำลังมีข้อโต้แย้งฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ ก็ยังไม่อาจถือว่าจำเลยการกระทำโดยไม่สุจริตเช่นกัน เพราะขณะนั้นยังไม่แน่ว่าจำเลยจะได้ที่ดินดังกล่าวมาเป็นของจำเลย และอาจต้องชดใช้ราคาที่ดินพิพาทที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องจากการถมที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยได้ที่ดินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยได้ดินที่โจทก์ทั้งสองถมไว้โดยสุจริตในที่ดินดังกล่าวไป อันทำให้มูลค่าที่ดินดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มพูนกองทรัพย์สินของจำเลย ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านับตั้งแต่ วันที่ 15 ตุลาคม 2533 เป็นต้นมา โจทก์ทั้งสองได้ปรับปรุงถมดินในที่ดินของจำเลยเพื่อจะปลูกบ้านทาวน์เฮาส์ขายจนถึงบัดนี้เป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 20 ปีเศษ ดินที่โจทก์ทั้งสองนำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินของจำเลยไปตามกาลเวลา จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลย ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วได้ ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถม แต่การที่โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับปรุงที่ดินนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 417 ที่บัญญัติ ให้โจทก์ทั้งสองเรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานที่ตั้งของที่ดิน เนื้อที่ดิน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจและราคาซื้อขายที่ดินในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีแล้ว เห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,200,000 บาท ซึ่งหนี้เงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปีแต่ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้เรียกให้จำเลยใช้เงินในกรณีนี้แก่โจทก์ทั้งสองในวันใด จึงต้องถือว่าวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เป็นวันที่โจทก์ทั้งสองเรียกให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยไม่ใช้ให้ อันเป็นเหตุให้จำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share