คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 และผู้ตายอีกฝ่ายหนึ่งชุลมุนต่อสู้กัน จำเลยที่ 2 กับผู้ตายชกจำเลยที่ 1 ก่อน แล้วจำเลยที่ 2 ใช้เหล็กขูดชารฟท์ไล่แทงจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายถูกที่ฝ่ามือ จำเลยที่ 1 จึงคว้าไม้เหลี่ยมกว้าง 3 นิ้วฟุต ยาวประมาณ 1 แขนตีผู้ตาย ดังนี้ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ให้ไม้ตีผู้ตายไปในขณะที่ชุลมุนต่อสู้กัน โดยคว้าไม้ซึ่งวางอยู่ตรงนั้นเองตีผู้ตายไปโดยไม่ได้เลือกตี และตีเพียงทีเดียว พฤติการณ์แห่งคดีฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294,295 โทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มิได้ระบุให้ชัดลงไปว่าให้ลงโทษตามบทมาตราใด และที่พิพากษาเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามของ 6 เดือน เป็น 9 เดือน เป็นการผิดพลาด เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาพิพากษาแก้ (แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับนายเหมือน สุวะมาตย์ ร่วมชุลมุนต่อสู้กันจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตะบองตีนายเหมือน ด้วยเจตนาฆ่า จำเลยที่ 3 ใช้มีดปลายแหลมแทงทำร้ายร่างกายนายเหมือน จำเลยที่ 2 ใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย และนายเหมือนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกขณะที่มีอายุกว่า 17 ปี พ้นโทษไม่เกิน 5 ปี มากระทำผิดอีก ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 294, 295, 92

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 294 ให้ลงโทษตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294, 295 ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ให้เป็นจำคุก 9 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 4 เดือน 15 วัน

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ให้จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ฝ่ายหนึ่งกับ จำเลยที่ 2 และนายเหมือนผู้ตายอีกฝ่ายหนึ่งชุลมุนต่อสู้กัน จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตีผู้ตายถึงแก่ความตายจริง ได้ความตามโจทก์นำสืบว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะใช้ไม้ตีผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 กับผู้ตายชกจำเลยที่ 1 ก่อน แล้วจำเลยที่ 2ใช้เหล็กขูดชาฟท์ไล่แทงจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายถูกที่ฝ่ามือ ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงคว้าไม้เหลี่ยมกว้าง 3 นิ้วฟุต ยาวประมาณ 1 แขนตีผู้ตาย ดังนี้ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตีผู้ตายไปในขณะที่ชุลมุนต่อสู้กัน โดยคว้าไม้ซึ่งวางอยู่ตรงนั้นเองตีผู้ตายไป โดยไม่ได้เลือกตี และตีเพียงทีเดียวทั้งมิได้ตีซ้ำอีก พฤติการณ์แห่งคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยเจตนาฆ่าผู้ตายการกระทำของจำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294, 295 ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เห็นว่า แม้ 2 มาตรานี้จะมีอัตราโทษเท่ากันคำพิพากษาของศาลก็จะต้องระบุให้ชัดลงไปว่า ให้ลงโทษตามบทมาตราใด และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามของ 6 เดือน เป็น 9 เดือน นั้น เป็นการผิดพลาดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย

พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294, 90 และเมื่อเพิ่มและลดโทษจำเลยที่ 2 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share