คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1,2 จำนองที่ดินแปลงหนึ่งแก่โจทก์ เมื่อจำนองแล้วจำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงนั้นไปด้วยการครอบครองปรปักษ์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน ดังนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินแปลงนั้นได้ แม้ส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงนั้นตกเป็นของจำเลยที่ 3 แล้ว และจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ก็ตาม ทั้งนี้เพราะสิทธิจำนองเป็นสิทธิครอบเหนือทรัพย์ทั้งหมด
เมื่อจำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครอง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน จะยกขึ้นต่อสู้ผู้รับจำนองซึ่งได้สิทธิโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กับนายทองห่อสามีจำเลยที่ ๒ จำนองที่ดินไว้กับโจทก์เป็นเงิน ๒๑,๕๐๐ บาท นายทองห่อตาย จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับมรดก จำเลยที่ ๓ ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑,๒ ขอให้แบ่งแยกและลงชื่อจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนในที่แปลงนี้ ศาลได้พิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว ให้แบ่งแยกและลงชื่อจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดในหนี้จำนองด้วย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามไถ่ถอนจำนอง ก็ไม่ไถ่ถอนจำนอง จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามไถ่ถอนจำนอง หากไม่ไถ่ถอนก็ขอให้ยึดทรัพย์จำนองมาขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์
จำเลยที่ ๑,๒ ให้การรับว่า จำนองจริง แต่ไม่มีเงินจะไถ่ถอน ขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เหลือใช้แทน
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑,๒ จำนองจริง แต่เมื่อจำนองโจทก์ก็รู้ว่าจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของโดยการครอบครองมาก่อนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยยังไม่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนด จำเลยจึงไม่ใช่คู่สัญญา และจำเลยได้ที่ดินโดยผลของกฎหมายและตามคำพิพากษาของศาล มิใช่โอนโดยนิติกรรม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินมีกว่า ๑๐๐ ไร่ เกินหนี้จำนอง โจทก์ชอบที่จะบังคับเอาส่วนของจำเลยที่ ๑,๒ ขอให้ยกฟ้องเฉพาะตัว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง ๓ ร่วมกันนำต้นเงิน ๒๑,๕๐๐ บาท กับดอกเบี้ย ๑๒,๙๐๐ บาท มาไถ่ถอนจำนอง หากไม่ไถ่ถอน จึงให้ยึดที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ใช่ผู้จำนอง จึงไม่ใช่ลูกหนี้โจทก์ จะบังคับให้ชำระหนี้ไม่ได้ แต่จำเลยที่ ๓ ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางครอบครองและยังมิได้จดทะเบียน จึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑,๒ ร่วมกันใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ยึดที่ดินซึ่งจำนองไว้ทั้งแปลง ขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นสารสำคัญของคดีในขั้นฎีกามีว่า โจทก์ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเอากับทรัพย์ส่วนของจำเลยที่ ๓ ที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยที่ ๓ ได้กรรมสิทธิ์ไปโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งที่จำเลยที่ ๓ มิได้เป็นลูกหนี้โจทก์จะได้หรือไม่
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๓ ได้กรรมสิทธิ์ที่รายนี้ไป (๒๐ไร่) โดยการครอบครองและยังมิได้จดทะเบียน จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
สิทธิจำนองมิใช่เป็นแต่เพียงสิทธิเหนือบุคคลเท่านั้น แต่เป็นสิทธิครอบเหนือทรัพย์จำนองทั้งหมดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑๖ ทรัพย์ส่วนที่จำเลยที่ ๓ ได้ไปโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของทรัพย์จำนอง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับเอาชำระหนี้จำนองได้ จำเลยที่ ๓ ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ โจทก์ไม่จำต้องอาศัยกรรมสิทธิ์เป็นข้ออ้างก็ใช้ยันกับจำเลยได้แล้ว
ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ และโดยเหตุที่ในคำให้การของจำเลยที่ ๓ กล่าวว่า ที่ดินส่วนของจำเลยที่ ๑,๒ มีกว่า ๑๐๐ ไร่ มีค่าเกินกว่าหนี้ที่รับจำนอง โจทก์ชอบที่จะบงคับเอาส่วนของจำเลยที่ ๑,๒ ก่อนนั้น มิได้มีการสืบค้นหาถึงราคาที่ดินส่วนของจำเลยที่ ๑,๒ ว่าพอที่จะชำระหนี้โจทก์หรือไม่ แต่เนื่องจากที่ดินแปลงนี้เป็นแปลงใหญ่ อาจแยกส่วนที่จำเลยที่ ๓ ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองเป็นอีกตอนหนึ่งได้ ดังนั้น เมื่อจะขายทอดตลาดที่ดินรายนี้ ก็อาจแยกที่ดินตอนที่เป็นของจำเลยที่ ๑,๒ ขายไปก่อนได้ สุดแล้วแต่เหตุผลที่สมควรให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๙

Share