คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7170/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าเสียหายที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจะมีสิทธิได้รับเพราะเหตุที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย ต้องเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น การที่โจทก์ที่ 1 และ ส. จะต้องไปเช่าบ้านอยู่ในระหว่างที่รอการก่อสร้างบ้านใหม่ มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสามกำหนดหลักการไว้ว่าถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาสูง ให้เอาราคาสูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทน หรือทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่ราคาลดลงด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ไม่สามารถนำหลักการสำคัญดังกล่าวมาใช้บังคับได้ หากที่ดินของโจทก์ที่ 1 และ ส. ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับราคาที่ลดลงให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายส่ง วิบูลย์สวัสดิ์ โจทก์ที่ 1 และนายส่งเป็นเจ้าของรวมที่ดินโฉนดเลขที่ 13703เนื้อที่ 189 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 920 ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน ที่ดินเนื้อที่151 ตารางวา พร้อมบ้านดังกล่าวถูกเวนคืน เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนแล้วจำนวน7,471,891.19 บาท จำเลยทั้งสองต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 8,934,168.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,510,878.84 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,445,047.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.25 ต่อปี ของต้นเงิน 8,934,168.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโดยใช้ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ทั้งสองสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลือจากการปลูกสร้างบ้านเนื้อที่ 11 ตารางวา ได้จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 55,000 บาทและ 98,365 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 19พฤษภาคม 2537 และวันที่ 3 มิถุนายน 2537 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งดังนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนายส่ง วิบูลย์สวัสดิ์ โจทก์ที่ 1 และนายส่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 189 ตารางวาตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคาร 2 หลัง ที่ดินโฉนดเลขที่ 13703 ส่วนใหญ่เนื้อที่ 151 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตยและเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ซึ่งใช้บังคับในวันที่ 4 ตุลาคม 2533คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์คือ ที่ดินตารางวาละ 40,000 บาท สิ่งปลูกสร้าง 1,417,526 บาท ไม้ยืนต้น 11,630 บาทค่าเสียหายที่จะต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์รวม 14,365 บาท ตามเอกสารหมาย ล.8 โจทก์ที่ 1 และนายส่งอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.11 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วคงเพิ่มให้เฉพาะค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงิน 56,506.86 บาทตามเอกสารหมาย ล.12 โจทก์ที่ 1 และนายส่งได้รับเงินค่าทดแทนทั้งหมดดังกล่าวแล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เช่าบ้านอยู่แต่ไปอาศัยอยู่บ้านของบุตรชาย และค่าเช่าบ้านตามที่โจทก์ที่ 2 อ้าง ก็สูงเกินไป ส่วนค่าขนย้ายที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงแล้วไม่สมควรเพิ่มให้อีกและที่ดินส่วนที่เหลือจากการปลูกสร้างบ้านที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าประโยชน์ใช้สอยลดลงมีจำนวนเพียง 9 ตารางวา เท่านั้น ไม่ใช่ 11 ตารางวา ที่ดินส่วนนี้ยังมีคุณค่าแก่โจทก์ทั้งสองราคาไม่ลดน้อยถอยลง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนล้วนเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกที่ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าบ้านระหว่างสร้างบ้านใหม่เพราะไม่ได้เป็นเงินค่าทดแทนตามกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 และนายส่งได้รับเงินค่าทดแทนในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนที่รื้อถอนได้และที่รื้อถอนไม่ได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 18(1)(2) และ (5) ประกอบมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แล้ว ดังนั้นโจทก์ที่ 1 และนายส่งซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพราะเหตุที่ต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 21 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ต้องเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ที่โจทก์ที่ 1 และนายส่งต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์มิได้ทำให้โจทก์ที่ 1และนายส่งต้องขาดรายได้หรือขาดประโยชน์ที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด การที่โจทก์ที่ 1และนายส่งจะต้องไปเช่าบ้านอยู่ในระหว่างที่รอการก่อสร้างบ้านใหม่ มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่โจทก์ที่ 1 และนายส่งจะต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ที่ 1 และนายส่งจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับค่าเช่าบ้านเป็นเงิน 84,000 บาท นั้น จึงไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อกฎหมายข้อสุดท้ายว่า การคำนวณราคาที่ดินที่ลดลงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงไม่สามารถกำหนดราคาที่ลดลงของที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ได้เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามกำหนดหลักการไว้ว่าถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาสูง ให้เอาราคาสูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทน หรือทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่ราคาลดลงด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น ถ้าไม่กำหนดเงินค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่ราคาลดลงให้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนคือฝ่ายโจทก์ ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญดังกล่าว ส่วนบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม เท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับ ก็หาใช่เหตุที่จะทำให้ไม่สามารถนำหลักการสำคัญดังกล่าวมาใช้บังคับได้ไม่ หากได้ความว่าที่ดินของโจทก์ที่ 1 และนายส่ง ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับราคาที่ลดลงให้แก่ฝ่ายโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 55,000 บาท และ 14,365 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2537 และวันที่ 3 มิถุนายน 2537 ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share