คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ความผิดนั้นถือว่าฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องที่ถูกต้องตามกฎหมายมาแต่ต้นแล้ว โจทก์จึงจะมาขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นฟ้องขึ้นหาได้ไม่ ส่วนการร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับฐานความผิดหรือรายละเอียด ซึ่งต้องแถลงในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 นั้น ฟ้องของโจทก์จะต้องเป็นฟ้องที่ถูกต้องมาแต่ต้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คให้แก่นายมีชัย แล้วจำเลยบังอาจห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็ค โดยจำเลยมีเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธและว่าจะแถลงข้อความพิศดารเมื่อสืบพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์ เพราะเห็นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และนัดฟังคำพิพากษา
ก่อนศาลอ่านคำพิพากษาโจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องว่า “และธนาคาร ได้ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว” แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต แล้วศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวข้อความว่า “ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค” อันเป็นองค์ประกอบความผิดประการหนึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลไม่ควรรับไว้พิจารณามาตั้งแต่ต้น การที่โจทก์ร้องขอเพิ่มเติมความข้อนี้เข้ามาก่อนศาลพิพากษา โดยอ้างว่าพลั้งเผลอนั้น ก็ไม่เป็นเหตุอันควรที่โจทก์จะอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๓ ทั้งการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องนี้ก็ไม่ใช่เพียงแต่แก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดที่ต้องแถลงในฟ้อง แต่เป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมที่ไม่ถูกต้องให้เป็นฟ้องขึ้นมา ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้อง และยกฟ้องโจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share