คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1061/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะที่ลูกหนี้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ ลูกหนี้มีสัญญารับเหมาก่อสร้างซึ่ง ทำกับ ก. และกำลังจะได้ เงินอยู่แล้ว แสดงว่าลูกหนี้มีงานมีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างและยังมีเงินหมุนเวียนสำหรับชำระหนี้ได้ ต่อไป แม้ลูกหนี้จะเอาเงินที่กู้ยืมจากเจ้าหนี้ไปใช้ หนี้ตาม เช็ค ซึ่ง กำลังถูก ดำเนิน คดีเนื่องจากเช็ค เบิกเงินไม่ได้ ยังถือ ไม่ได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวดังนี้ฟังไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กู้ไปโดย รู้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ได้.

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไลน์แมทเทอร์เรียล ที่ 1 นายบัญชา พันธุ์ศิริ ที่ 2 ลูกหนี้ (จำเลย)ไว้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2526 นายโสภณ ศรียาภัยเจ้าหนี้รายที่ 8 ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินกู้จำนวน 226,500 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ในขณะที่กู้ยืมเงินกันเจ้าหนี้ทราบอยู่แล้วว่าลูกหนี้ทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ยังยอมให้ลูกหนี้กู้เงินไป หนี้เงินกู้รายนี้จึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงขอรับชำระหนี้ไม่ได้ ตามมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 210,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(3), 130(8)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกหนี้(จำเลย) ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีลูกหนี้(จำเลย) ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2520 ลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของลูกหนี้ที่ 1 กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้จำนวน 120,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินกู้คืนภายในวันที่ 7 สิงหาคม2520 โดยมีนางสาวเยาวมาลย์ บุญข้าเหลือ เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2เจ้าหนี้จ่ายเงินให้ลูกหนี้ที่ 2 เรียบร้อยแล้ว โดยหักดอกเบี้ยไว้7,000 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระเงินคืน ลูกหนี้ที่ 2 ขอผัดไป 3 เดือนโดยจ่ายดอกเบี้ยให้ 5,000 บาท เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ลูกหนี้ที่ 2 ขอผัดอีก และจ่ายดอกเบี้ยให้อีก 3,000 บาท หลังจากนั้นก็ไม่ได้ชำระอีก เจ้าหนี้ติดตามทวงถามแต่ไม่พบลูกหนี้ที่ 2 ต่อมาทราบว่าลูกหนี้ทั้งสองถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงมาขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นเงินต้น 120,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2520จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นดอกเบี้ย 106,500บาท รวมเป็นเงิน 226,500 บาท
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นโดยเจ้าหนี้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเจ้าหนี้และพยานอีก 1 ปากได้ความเพียงว่า เจ้าหนี้รู้จักกับลูกหนี้ที่ 1ที่ 2 เป็นอย่างดีเพราะอยู่บ้านใกล้กัน เคยให้ลูกหนี้ที่ 2กู้ยืมเงินหลายครั้งและลูกหนี้ใช้ให้ทุกครั้งครั้งสุดท้าย อันเป็นมูลให้เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ลูกหนี้ที่ 2 มาขอกู้ยืมเงิน โดยบอกว่าจะเอาเงินที่กู้ไปใช้หนี้และไถ่ถอนหลักทรัพย์ที่ยื่นเป็นประกันไว้ที่สถานีตำรวจ เนื่องจากลูกหนี้ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพฤติการณ์ทั้งหมดนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถือว่า เจ้าหนี้รู้อยู่ว่าลูกหนี้ทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว เห็นว่า แม้จะได้ความว่าลูกหนี้กู้ยืมเงินไปจากเจ้าหนี้หลายครั้งแต่ก็ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ทุกครั้ง นอกจากครั้งหลังนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่เจ้าหนี้ก็นำสืบว่าขณะที่ลูกหนี้ไปกู้ยืมเงินยังมีสัญญารับเหมาก่อสร้างซึ่งทำกับกรุงเทพมหานครและกำลังจะได้รับเงินอยู่แล้วมาแสดงด้วย แสดงว่าลูกหนี้ยังมีงานและมีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างอยู่ ยังมีเงินหมุนเวียนสำหรับชำระหนี้ได้ต่อไป แม้จะได้ความว่าลูกหนี้จะเอาเงินที่กู้ยืมจากเจ้าหนี้ไปใช้หนี้รายอื่นซึ่งเป็นหนี้ตามเช็คและกำลังถูกดำเนินคดีเนื่องจากเช็คที่สั่งจ่ายเบิกเงินไม่ได้เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะลูกหนี้ยังมีสิทธิจะได้รับเงินจากกรุงเทพมหานครมาใช้ให้เจ้าหนี้ทั้งยังปรากฏจากคำให้การของเจ้าหนี้ด้วยว่า การกู้ยืมเงินไปชำระหนี้ดังกล่าวยังเป็นการถอนคืนหลักประกันที่สถานีตำรวจออกมาด้วยแสดงว่าลูกหนี้ยังมีหลักทรัพย์อยู่ ฉะนั้นการที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้หลายรายแต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้เหล่านั้น หรือไม่ชำระหนี้โจทก์ และไม่ปรากฏว่าขณะให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระให้เจ้าหนี้หรือเจ้าหนี้รายอื่นได้ จึงฟังไม่ได้ว่า ขณะกู้ยืมเงินกันนั้นเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กู้ยืมไปโดยรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนที่นายเจือ วงศ์วิจิตร พยานเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งในห้างลูกหนี้ที่ 1 ให้การว่า ลูกหนี้ทั้งสองมีเจ้าหนี้หลายราย ต่อมามีปัญหาเนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่รับงานที่ห้างลูกหนี้ที่ 1 รับจ้างทำอ้างว่าทำไม่ถูกตามสัญญาราคาวัสดุก่อสร้างก็เพิ่มขึ้นมาก ห้างลูกหนี้ที่ 1 จึงขาดทุนและหยุดดำเนินการจึงไม่มีเงินชำระหนี้นั้น เป็นเหตุการณ์ภายหลังการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้แล้ว ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่า เจ้าหนี้รู้จักลูกหนี้ทั้งสองดีจึงต้องรู้ว่าเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น เป็นการสันนิษฐานลอย ๆ โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงเพียงนั้น…”
พิพากษายืน.

Share