แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยชำระค่าทำที่ดินให้เรียบร้อย ทำขอบกันดินเช่นแปลงอื่นและยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบหลักเขตพร้อมปักหลักเขตที่ดินใหม่เป็นเงิน 25,000 บาท เป็นการขอบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เท่านั้นมิได้ให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ การที่โจทก์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวและเสียค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องของโจทก์ในทำนองเดียวกับการเรียกค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมแซมทรัพย์สินไว้ก่อนโดยที่ยังไม่มีการซ่อมแซม ส่วนการที่โจทก์จะเรียกร้องเงิน 25,000 บาท จากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใดนั้น ย่อมเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีต่อไปไม่อาจแปลไปได้ว่าเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์อยู่ในอำนาจของศาลแขวง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2539 จำเลยตกลงให้โจทก์ผลิตสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์โครงการของจำเลยทุกรูปแบบ โดยจำเลยตกลงจะชำระหนี้ตอบแทนด้วยการโอนที่ดินในโครงการของจำเลยให้โจทก์ในวงเงิน2,194,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังจากนั้นโจทก์ทำงานให้จำเลย ต่อมาจำเลยกำหนดว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลง TS 2 – 087 ให้โจทก์เป็นการตอบแทน ในการส่งมอบงานแต่ละครั้งจำเลยจะออกใบเสร็จรับเงินค่าที่ดินให้โจทก์ และโจทก์ก็จะออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินค่าจ้างให้จำเลยเป็นจำนวนเท่ากัน ต่อมาต่างตกลงออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินเพียงร้อยละ 30 ของราคาที่แท้จริง เพื่อประโยชน์ในทางภาษีอากรของจำเลย โจทก์ทำงานให้จำเลยมีมูลค่าทั้งหมดเป็นเงิน 2,024,095 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 150,061.90 บาท แล้วเป็นเงิน 2,174,156.90 บาท ถึงประมาณเดือนมีนาคม 2542 จำเลยออกใบเสร็จรับเงินค่าที่ดินให้โจทก์ลดลงร้อยละ 30 เป็นเงิน1,368,221.26 บาท เมื่อครบกำหนดเวลาในสัญญาแล้ว แต่มูลค่างานที่โจทก์ทำยังไม่ครบตามมูลค่าที่ดินที่กำหนดไว้ โจทก์กับจำเลยจึงตกลงเปลี่ยนที่ดินจากแปลง TS 2 – 087 เป็นแปลงที่ TS 1 – 039 ราคา 1,410,248 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ลดมูลค่าลงร้อยละ 30 แล้ว ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 90216 ตำบลบึงลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว แต่ที่ดินอยู่ในสภาพไม่เรียบร้อย เป็นหลุมเป็นบ่อ หมายเลขในหลักหมุดไม่ตรงตามโฉนดที่ดิน จำเลยรับจะแก้ไขให้แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ สำหรับมูลค่างานของโจทก์คิดเป็นเงิน 2,174,156.90 บาท ลดลงร้อยละ 30 คงเหลือ 1,521,909.83บาท เมื่อนำเงินค่าที่ดินร้อยละ 70 เป็นเงิน 1,410,248 บาท มาหักออก จะเหลือส่วนต่างที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ 111,661.83 บาท ซึ่งเป็นเพียงร้อยละ 70 ของมูลค่าที่แท้จริงจำเลยต้องคืนเงินส่วนนี้ในจำนวนเต็มร้อยละ 100 เท่ากับ 159,516.90 บาท นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2542 จำเลยให้โจทก์จัดทำแคตตาล็อกมีการแก้ไขงานและยกเลิก ทำให้โจทก์มีค่าแก้ไขงานอาร์ตเวอร์คและจำเลยยังให้โจทก์ทำอาร์ตเวอร์สำหรับไดเร็คเมลล์ด้วยคิดเป็นเงิน 11,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ 170,516.90 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 29,046.26 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้าง 170,516.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับจากวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 29,046.26 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 170,516.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยชำระค่าที่ดินให้เรียบร้อย ทำขอบกันดินเช่นแปลงอื่น และการยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบหลักเขตพร้อมปักหลักเขตที่ดินใหม่เป็นเงิน 25,000 บาท
จำเลยให้การว่า คำขอท้ายฟ้องในข้อ 2 เป็นคำขอให้จำเลยดำเนินการทำขอบกันดินและยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบและปักเขตที่ดินใหม่ เป็นการขอให้จำเลยกระทำการ หากไม่กระทำก็ขอให้ชำระราคาแทนซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ที่ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทำที่ดินให้เรียบร้อย ทำขอบกันดินเช่นแปลงอื่น และการยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบหลักเขตที่ดินใหม่เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งระคนปนอยู่กับคดีมีทุนทรัพย์ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(4) กรณีไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องของโจทก์ให้จำเลยแล้ว จำเลยมิได้คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยหรือไม่ เห็นว่าเฉพาะคำขอท้ายฟ้องที่เป็นปัญหาคือคำขอข้อ 2 ซึ่งมีความว่า “ให้จำเลยชำระค่าทำที่ดินให้เรียบร้อย ทำขอบกันดินเช่นแปลงอื่น และการยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบหลักเขตพร้อมปักหลักเขตที่ดินใหม่เป็นเงิน 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)”ตามคำขอเช่นนี้เป็นการขอบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 25,000 บาท เท่านั้นมิได้ขอบังคับให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด การที่โจทก์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวและเสียค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องของโจทก์ในทำนองเดียวกันกับการเรียกค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมแซมทรัพย์สินไว้ก่อนโดยที่ยังไม่มีการซ่อมแซม ส่วนการที่โจทก์จะเรียกร้องเงิน 25,000 บาท จากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใดนั้น ย่อมเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป กรณีไม่อาจแปลไปได้ว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย คดีของโจทก์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ทั้งเรื่องและอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น และโจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่เท่านั้น มิได้ขอให้ชนะคดีตามฟ้อง โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ และต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์”