คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทยพ.ศ. 2522 กำหนดให้ผู้ว่าการมีอำนาจบริหารกิจการของ สถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและนโยบายที่คณะกรรมการ กำหนด บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง กับรับผิดชอบในการจัดการ และดำเนินการของสถาบันตามที่คณะกรรมการมอบหมาย บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด หรือตัดเงินเดือนตลอดจนลงโทษพนักงานและลูกจ้าง ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด มีอำนาจวางนโยบายบริหารและควบคุม ดูแลโดยทั่วไปและรับผิดชอบซึ่งกิจการของสถาบัน ดังนี้ จำเลย ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการ บริหารกิจการและมีอำนาจบังคับบัญชา พนักงาน และลูกจ้างทุกตำแหน่ง รวมตลอดถึงมีอำนาจในการบรรจุ แต่งตั้ง ถอด ถอนลงโทษพนักงาน และลูกจ้างทุกคนเว้นแต่บางตำแหน่ง จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็น นายจ้างของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 มีอำนาจให้ความเห็นชอบ วางนโยบายบริหารและควบคุมดูแลทั่วไปกับออกข้อบังคับต่าง ๆจำเลย ที่ 3 ถึงที่ 12 ไม่มีอำนาจตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และไม่ใช่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 จึงมิใช่นายจ้างของโจทก์ เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 โจทก์ยัง เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 อยู่ การที่จำเลยที่ 1 ตั้งโจทก์ เป็นที่ปรึกษาและให้โจทก์ลงนามในสัญญานั้น แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จนจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์อีก ขอให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้าง ที่ปรึกษาให้เสร็จภายใน กำหนด หากพ้นกำหนดจะถือว่าโจทก์สละสิทธิ ที่จะรับ ข้อเสนอในการว่าจ้าง เมื่อโจทก์ไม่ยอมลงนามในสัญญา ตั้งที่ปรึกษาภายในเวลาที่กำหนด ถือว่าโจทก์สละสิทธิที่จะทำงาน เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1ต่อไป มีผลเป็นการลาออกจากการเป็น ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นับแต่วันพ้นกำหนด แม้โจทก์จะเป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็ยังคง เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 อยู่ การออกจากงานของโจทก์จึงต้อง เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องเกิดจากการตาย ลาออก อายุ ครบ60 ปีบริบูรณ์ ถูกสั่งให้ออก ปลดออก ไล่ออก หรือ ต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดตามที่ข้อบังคับ กำหนดไว้เท่านั้น การพ้น จากตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระของโจทก์ตาม พระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทยมีผลทำให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลทำให้ โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการ จำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาน จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการให้ร่วมกับจำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 ซึ่งเป็นกรรมการโดยต่ำแหน่งของคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(คณะกรรมการ กวท.) มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลโดยทั่วไปและรับผิดชอบซึ่งกิจการของจำเลยที่ 1 ตลอดจนการออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุแต่งตั้ง การออกจากงานกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้าง โจทก์ได้รับบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 16กันยายน 2514 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ให้โอนบรรดากิจการทรัพย์สินและหนี้สินรวมทั้งพนักงานและลูกจ้างของสถาบันวิจัยวิทยาศาตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทยไปเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้รับการโอนมาเป็นพนักงานประจำของจำเลยที่ 1 โดยผลของกฎหมายและต่อมาโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีวาระคราวละ 5 ปี รวมสองคราว จนกระทั่งโจทก์ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการคราวที่ 2 ครบวาระในวันที่ 24 มีนาคม 2533โจทก์มิได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการต่ออีก และจำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้ร่วมกันกระทำการอันเป็นละเมิดต่อโจทก์และเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงานกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันถัดจากวันครบวาระการเป็นผู้ว่าการเป็นต้นไปโดยมิได้บอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้ยื่นใบลาออกไม่เคยถูกสอบสวนลงโทษทางวินัยให้ออกหรือกระทำผิดอย่างอื่น จำเลยที่ 1 งดจ่ายเงินเดือนประจำเดือนเมษายน 2533 ให้แก่โจทก์เป็นต้นมา เป็นการขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและต้องห้ามโดยกฎหมายจึงไม่มีผลบังคับ ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง การบรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือนและการออกจากงาน พ.ศ. 2525 ซึ่งถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยตกลงให้พนักงานทุกคนพ้นจากสภาพพนักงานได้เฉพาะ 5 กรณีเท่านั้น ซึ่งไม่รวมถึงการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการโดยการครบตามวาระ นอกจากนั้นคณะกรรมการ กวท. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2523 ซึ่งถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ว่า ในกรณีที่พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการให้ได้รับเงินเพิ่มประจำตำแหน่ง โดยให้รวมอัตราเงินเดือนประจำตัวของผู้นั้นในขณะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการกับเงินเพิ่มประจำตำแหน่งแล้วให้เท่ากับอัตราเงินเดือนสูงสุดของผู้ว่าการ อย่างไรก็ตามเงินเดือนประจำตัวของผู้ดำรงตำแหน่งนั้นจะยังคงอยู่และจะเลื่อนขั้นขึ้นไปตามปกติและกำหนดไว้ว่าเมื่อผู้นั้นพ้นวาระของตำแหน่งผู้ว่าการแล้วให้ได้รับเงินเดือนในอัตราประจำตัวในขณะที่พ้นวาระ ดังนั้น เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระแล้ว โจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งรองผู้ว่าการ ซึ่งเป็นตำแหน่งก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการโดยต้องจ่ายเงินเดือนในอัตราประจำตัวโจทก์ในขณะที่พ้นวาระ คือพนักงานระดับ วท.11 ขั้น 30,060 บาทและต่อมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 เป็นต้นไป ต้องเปลี่ยนให้เป็นขั้น 31,220 บาท นอกจากจำเลยที่ 1 จะไม่ดำเนินการดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ได้สั่งไม่อนุมัติให้โจทก์เบิกค่ารักษาพยาบาล การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ควรได้รับเงินทั้งสิ้น 1,026,000 บาท และค่าเสียหายจากเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น 9,219,033 บาท และทุก ๆ 7 วันจะมีเงินเพิ่มคงที่งวดที่ 7 วันละ 153,090 บาท ต่อไปจนกว่าจำเลยจะได้ร่วมกันชำระให้โจทก์จนครบถ้วน การกระทำของจำเลยในการงดจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ทำให้โจทก์ขาดสิทธิที่ควรได้ โจทก์ขอเหมาจ่ายค่าเสียหายส่วนนี้ในอัตราเดือนละ500 บาท จนถึงวันที่30 กันยายน 2535 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท หากจำเลยยังคงหน่วงเหนี่ยวไม่จ่ายเงินเดือน เงินเพิ่มและค่าเสียหายตามฟ้องจนกระทั่งวันที่ 30 กันยายน 2535 อันเป็นวันสิ้นปีงบประมาณที่โจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว โจทก์ยังได้รับความเสียหายเพิ่มเติมตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณีใดกรณีหนึ่งในข้อ 8 คือการออกจากงานในวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือกรณีสถาบันจำเลยที่ 1ให้ออกจากงานเพราะยุบเลิกตำแหน่งหรือให้ออกโดยไม่มีความผิด ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงานสำหรับจำนวนเงินสงเคราะห์ซึ่งโจทก์ทำงาน คิดเป็นเวลาทำงานสำหรับคำนวณเงินสงเคราะห์ยี่สิบเอ็ดปีเงินเดือนสุดท้ายคือ 36,920 บาท คิดเป็นเงินสงเคราะห์775,320 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายต่างหากเป็นเงิน 5 ล้านบาทให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษหนึ่งฉบับและภาษาไทยสามฉบับจึงขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์พ้นสภาพพนักงานเป็นโมฆะ ให้จำเลยดำเนินการให้โจทก์เป็นพนักงานระดับ วท.11 ต่อไปตามเดิม และบังคับจำเลยให้จ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์จำนวน1,002,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตั้งแต่วันถึงกำหนดจ่ายของเงินค่าจ้างเดือนนั้น จนกว่าจำเลยจะได้ชำระให้โจทก์ครบถ้วนให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มจำนวน 9,210,933 บาท ให้แก่โจทก์ และหากการจ่ายยังล่าช้าไปจนเกินวันที่ 30 กันยายน 2535ให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มอีกในอัตรางวดละ 150,390 บาท ทุก ๆ งวด 7 วันที่ผ่านไป ให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 15,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์และให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ให้โจทก์อีกเป็นเงิน 775,320 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ครบจำนวนให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์อีกจำนวน 5 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษหนึ่งฉบับ และภาษาไทยอีกสามฉบับเป็นเวลาฉบับละสามวันติดต่อกัน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 เพราะจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 เป็นเพียงคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายในการบริหารงานและควบคุมดูแลทั่วไปในกิจการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่มีอำนาจในการว่าจ้างโจทก์จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 จึงไม่มีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ อย่างไรก็ตามจำเลยมิได้กระทำการละเมิดต่อโจทก์ และมิได้กระทำการขัดกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่อย่างใด กล่าวคือ โจทก์เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 คราวละห้าปีรวมสองคราว เมื่อหมดวาระแล้วโจทก์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการก็ต้องถือว่าขาดจากการเป็นพนักงาน หรือไม่มีสถานภาพการเป็นพนักงานอีกต่อไปตามกฎหมาย โจทก์จะอ้างว่ายังเป็นพนักงานอยู่อีกไม่ได้ นอกจากนี้การที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการก็เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพลังงานผู้มีอำนาจแต่งตั้งเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการต่อไปอีกโจทก์ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ว่าการจึงไม่ได้รับการแต่งตั้ง จึงต้องพ้นจากสถานภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการโดยผลของกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมิใช่พนักงานอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินเดือนหรือค่าจ้าง เงินเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายอื่น ๆสำหรับเงินกองทุนสงเคราะห์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเพราะการออกจากงานของโจทก์เป็นการออกตามกฎหมาย มิต้องด้วยกรณีหนึ่งกรณีใดตามข้อบังคับว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2524 ข้อ 8และหากจำเลยต้องจ่ายเงินสงเคราะห์เนื่องจากโจทก์ทำงานเป็นเวลา18 ปี และได้รับเงินเดือนสุดท้าย 30,060 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเพียง 541,080 บาทเท่านั้น หลังจากพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว เนื่องจากโจทก์เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการจนครบวาระทั้งสองคราวจำเลยที่ 1ประสงค์จะจ้างโจทก์ต่อไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจว่าจ้างโจทก์โดยพลการได้ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังขออนุมัติจ้างโจทก์ในตำแหน่งที่ปรึกษา ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วอนุมัติแต่โจทก์ไม่ยินยอมทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ สำหรับเกี่ยวกับค่าเสียหายนั้น จำเลยขอปฏิเสธทั้งสิ้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12เป็นคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(กวท.) ตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 14 บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่เพียงวางนโยบายบริหารและควบคุมดูแลโดยทั่วไป และรับผิดชอบซึ่งกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งรวมถึงการกำหนดจำนวน ตำแหน่งอัตราเงินเดือนและค่าจ้าง เงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างและออกข้อบังคับต่าง ๆ เท่านั้น จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 เป็นกรรมการ กวท.ไม่มีกรณีจะบังคับให้จำเลยที่ 3 ถึง 12 ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3 ถึง 12 ตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง การบรรจุแต่งตั้ง เลื่อนขึ้นเงินเดือนและการออกจากงาน พ.ศ. 2525 เอกสารหมาย จ.10 ข้อ 25 กำหนดให้พนักงานออกจากงานเมื่อ 25.1 ตาย 25.2ได้รับอนุญาตให้ลาออก 25.3 เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ (โดยให้นำข้อ 27 มาบังคับใช้โดยอนุโลม) 25.5 ถูกสั่งลงโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกตามข้อบังคับของสถาบัน 25.5 รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ข้อบังคับดังกล่าวเพียงแต่กำหนดเหตุที่พนักงานออกจากงานโดยทั่วไปเท่านั้นไม่สามารถนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่พนักงานที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการพ้นตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระได้ เมื่อพนักงานได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการแล้วพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ย่อมถือว่าพนักงานผู้นั้นขาดสภาพการเป็นพนักงานไปในตัว เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระแล้วแล้ว โจทก์จึงขาดสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีหน้าที่ดำเนินการให้โจทก์กลับเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1อีก และไม่มีหน้าที่จ่ายเงินต่าง ๆ ตามฟ้องให้แก่โจทก์ ส่วนเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2524 เอกสารหมาย จ.11 โจทก์มีสิทธิได้รับ แต่โจทก์ยังมิได้ยื่นคำร้องขอรับเงินดังกล่าว จึงไม่วินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องในเรื่องเงินสงเคราะห์ใหม่ภายในกำหนดอายุความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว โจทก์อุทธรณ์ในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มีผู้ว่าการเป็นผู้แทนและบริหารกิจการมีคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือเรียกย่อว่า “กวท.” ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ว่าการและผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 6 คน จำเลยที่ 2เป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ กวท.จำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 เป็นกรรมการ กวท. พิเคราะห์แล้วตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 มาตรา 26(1) (2) (5) กำหนดให้ผู้ว่าการมีอำนาจบริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่งรับผิดชอบในการจัดการและดำเนินการของสถาบันตามที่คณะกรรมการมอบหมาย บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด หรือตัดเงินเดือนตลอดจนลงโทษพนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานชั้นรองผู้ว่าการผู้อำนวยการฝ่าย ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการหรือเทียบเท่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กวท.นั้น มาตรา 14 (1) ถึง (6) บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลโดยทั่วไป และรับผิดชอบซึ่งกิจการของสถาบัน อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึงการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นของพนักงานและลูกจ้างและการออกข้อบังคับต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการบริหารกิจการและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง รวมตลอดถึงมีอำนาจในการบรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน ลงโทษพนักงานและลูกจ้างทุกคนเพียงแต่พนักงานชั้นรองผู้ว่าการ หรือผู้อำนวยการฝ่าย ที่ปรึกษาผู้ชำนาญการหรือเทียบเท่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบวางนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลโดยทั่วไปและออกข้อบังคับต่าง ๆ เท่านั้น จำเลยที่ 3ถึงที่ 12 ไม่มีอำนาจตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และไม่ใช่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 จึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ให้ร่วมรับผิดในข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ในประการต่อมาว่า โจทก์ยังไม่ขาดจากสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์เป็นพนักงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย โดยเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2514 ต่อมาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทยถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 ซึ่งบัญญัติให้โอนบรรดากิจการทรัพย์สิน หนี้สิน รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างของสถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทยไปเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้รับโอนมาเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1ตำแหน่งรองผู้ว่าการ ต่อมาโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตำแหน่งมีวาระคราวละ 5 ปี รวมสองคราว เมื่อโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการครบวาระที่สองในวันที่24 มีนาคม 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานมิได้แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ว่าการอีก ขณะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการวาระที่สองโจทก์มีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ระดับวท. 11 ขั้น 30,060 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งบริหารเลขที่ คบ.33/106เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำปีงบประมาณ 2533 ลงวันที่ 20กรกฎาคม 2533 แต่งตั้งให้โจทก์เป็นที่ปรึกษาพิเศษของจำเลยที่ 1ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 32,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2533 เป็นต้นไป และได้ส่งบันทึกข้อตกลงการจ้างตามเอกสารหมาย จ.28 ให้โจทก์ลงนาม โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมลงนามในบันทึกข้อตกลงการจ้าง อ้างว่าโจทก์ยังมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ระดับ วท. 11 อยู่ ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.30พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง การบรรจุ แต่งตั้งเลื่อนขั้นเงินเดือน และการออกจากงาน พ.ศ. 2525 เอกสารหมาย จ.10ข้อ 25 ได้กำหนดเรื่องที่พนักงานของจำเลยต้องออกจากงานไว้ว่าพนักงานออกจากงานเมื่อ 1. ตาย 2. ได้รับอนุมัติให้ลาออก 3. เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ 4. ถูกสั่งลงโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกตามข้อบังคับของสถาบัน 5. รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ โดยครบวาระเมื่อวันที่ 24มีนาคม 2533 มีปัญหาว่า เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ โจทก์จะต้องขาดจากสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับจำเลยเอกสารหมายจ.10 ข้อ 4 กำหนดไว้ว่า “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของสถาบันรวมทั้งผู้ว่าการ ก่อนที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งรองผู้ว่าการโจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น เมื่อโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ โจทก์ก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ระดับวท. 11 ขั้น 30,060 บาท ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของพนักงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 เอกสารหมาย จ.29จึงรับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ โจทก์มีฐานะเป็น”พนักงาน” ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในข้อบังคับของจำเลยที่ 1เอกสารหมาย จ.10 ข้อ 4 การที่โจทก์จะต้องออกจากงานหรือพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 25 เช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป เพราะข้อ 25 ไม่ได้กำหนดยกเว้นไม่ใช้บังคับแก่พนักงานที่เป็นผู้ว่าการแต่อย่างใด การออกจากงานของโจทก์จึงต้องเกิดขึ้นจากการตาย ลาออกหรืออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์หรือถูกสั่งลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก หรือต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดตามที่กำหนดไว้เท่านั้น ส่วนการที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522มาตรา 24 นั้น ย่อมมีผลเพียงแต่ทำให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลทำให้โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อโจทก์ยังเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงต้องจ่ายค่าจ้างและค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าเมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งโจทก์เป็นที่ปรึกษาและได้แจ้งให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาแต่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตาม ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน2533 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถึงโจทก์อีก ขอให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดวันที่26 พฤศจิกายน 2533 หากพ้นกำหนดจะถือว่าโจทก์สละสิทธิที่จะขอรับข้อเสนอดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.20/1 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9โจทก์เป็นที่ปรึกษา ก็เพื่อหาตำแหน่งมารองรับฐานะการเป็นพนักงานของโจทก์ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ การแต่งตั้งให้โจทก์เป็นที่ปรึกษาตามบันทึกข้อตกลงการจ้าง เอกสารหมาย จ.28 จำเลยที่ 1ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปต่อเนื่องจากระยะเวลาที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการและจ่ายเงินเดือนให้โจทก์เดือนละ 32,000 บาท อัตราเงินเดือนที่ปรึกษาสูงกว่าอัตราเงินเดือนสุดท้ายในตำแหน่งผู้ว่าการ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามมติของ กวท. ตามรายงานการประชุมครั้งที่ 4/2523 เอกสารหมาย จ.15 ที่ให้เงินเดือนประจำตัวของผู้ดำรงตำแหน่งนั้นยังคงอยู่และเลื่อนขั้นตามปกติ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับการมีฐานะเป็นพนักงานของโจทก์ต่อไปและกำหนดการจ้างเป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังไม่ครบเกษียณอายุ ก็เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้กำหนดเป็นพนักงานในตำแหน่งอื่นตามเอกสารหมาย จ.20/1 และ จ.31 หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามมติ กวท. อันเป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.20/1 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9สั่งให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษา หากโจทก์ประสงค์จะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อรับเงินเดือนและสวัสดิการต่อไป โจทก์จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ลงนามเข้าเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 ก่อน หลังจากนั้นเมื่อครบกำหนดการจ้าง 6 เดือน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ต่อสัญญาจ้างให้โจทก์ทำงานต่อไปจนครบเกษียณอายุก็ดีระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้สิทธิแก่โจทก์เทียบเท่าฐานะของพนักงานด้วยการไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน หรือไม่จ่ายเงินสวัสดิการให้แก่โจทก์ก็ดี โจทก์ก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้แต่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ยอมลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาภายในวันที่26 พฤศจิกายน 2533 ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด จึงถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิที่จะทำงานเป็นพนักงานที่ 1 ต่อไป มีผลเป็นการลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นับแต่พ้นกำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน2533 เป็นต้นไป โจทก์จึงพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปตามข้อบังคับเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 25.2
โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้าย เรื่องประเด็นอื่นที่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัย ซึ่งได้แก่กรณีขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นพนักงานระดับ วท.11 ต่อไปตามเดิมให้โจทก์จ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาล เงินกองทุนสงเคราะห์และค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางได้รับฟังมาแล้ว เห็นว่า เมื่อรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ยอมลงนามตามสัญญาจ้างที่ปรึกษา และมีผลเป็นการลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปโจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นพนักงานอีก และไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน5,000,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่วนเงินค่าจ้างค้างที่โจทก์เรียกร้องมาจำนวน 9,210,933 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปีนั้น ศาลฎีกา เห็นว่า โจทก์ยังมีสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยอยู่จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 คงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2533 เท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2533 จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 โดยถืออัตราเงินเดือน 30,060 บาทเป็นเกณฑ์คำนวณในการคำนวณตั้งแต่เดือนเมษายน 2533 จนถึงเดือนกันยายน 2533 ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยต่อไปว่า นับแต่เดือนตุลาคม 2533 จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ควรจะมีสิทธิได้รับเงินเดือนในอัตราเดิมหรืออัตรา31,220 บาท ตามที่โจทก์เรียกร้อง และโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในเงินเดือนที่ค้างจ่ายดังกล่าวหรือไม่ ในอัตราใด ส่วนเงินเพิ่มนั้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือกลั่นแกล้งไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการว่าจ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากจำเลยที่ 1ส่วนเงินกองทุนสงเคราะห์นั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะไม่ได้ออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 8 หาได้ต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่ได้ร้องขอรับเงินสงเคราะห์จึงไม่มีสิทธิได้รับไม่ เมื่อฟังว่าโจทก์ได้พ้นจากการเป็นพนักงานโดยถือว่าเป็นการลาออก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ ศาลแรงงานกลางจึงต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์เท่าใด โดยนับระยะเวลาการทำงานจนถึงวันที่26 พฤศจิกายน 2533 นอกจากนี้ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลและดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าจ้างค้างจ่าย เงินค่ารักษาพยาบาล และดอกเบี้ยของเงินดังกล่าว โดยถือสิทธิที่เกิดขึ้นระหว่างอายุการทำงานในช่วงต้นเดือนเมษายน 2533 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 รวมทั้งจำนวนเงินกองทุนสงเคราะห์ของโจทก์ด้วย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share