คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค่าชดเชยต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่เลิกจ้าง โดยไม่ต้องทวงถาม ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 27,960 บาท กับดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์2519 จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทันทีโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถามแต่อย่างใด เมื่อไม่จ่ายค่าชดเชยให้ก็ต้องฟังว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันเลิกจ้างแล้ว จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันฟ้องด้วย

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษาายน พุทธศักราช 2515 ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ดังนั้นเมื่อจำเลยเลิกจ้าง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายค่าชดเชยให้ย่อมต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่เลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถามแต่ประการใดอีก ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ฉะนั้น เมื่อผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่เลิกจ้างเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เป็นว่า ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน 27,960 บาทนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2519) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้นี้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”

Share