คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8370/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่ ว. อาจทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจรับช่วงสิทธิจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคสอง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายตามมาตรา 697 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ ข้อ 5 ระบุว่า “การค้ำประกันนี้ย่อมผูกพันผู้ค้ำประกันอย่างสมบูรณ์ตลอดไป… และผู้ค้ำประกันไม่พ้นจากการรับผิด เพราะเหตุผู้ให้กู้อาจกระทำการใดๆ ไป เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิใดๆ อันได้ให้หรืออาจได้ให้ไว้แก่ผู้ให้กู้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันนี้” อันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ตกลงกันยกเว้นบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 697 ซึ่งมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจตกลงกันให้มีผลเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงปลดจำนองค้ำประกันร่วมให้แก่ ว. แม้จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามข้อสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับสินเชื่อจากโจทก์ 2 ประเภท ประเภทแรกจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สาขาปทุมวัน 2 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 จำนำเงินฝากเป็นประกันหนี้ตามสัญญาทั้งสองฉบับ และมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาฉบับที่สอง เมื่อครบกำหนดอายุสัญญา จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ โจทก์นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย สินเชื่อประเภทที่สองจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์สาขาปทุมวัน 2 ครั้ง มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ในครั้งที่สอง จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้เพียงบางส่วนแล้วผิดนัดชำระหนี้ในการกู้เบิกเงินเกินบัญชีและกู้เงิน มีจำเลยที่ 4 จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 8,393,177.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 7,942,410.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วย 725,684.97 บาท และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมรับผิดด้วย 4,755,282.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 536,901.56 บาท และ 4,611,995 บาท ตามลำดับนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ผิดสัญญาจำนำเงินฝากประจำ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกหนี้หรือมีนิติสัมพันธ์ต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ปลดจำนองให้แก่พันเอกวิจิตร ผู้จำนองค้ำประกันร่วมโดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ทราบหรือยินยอม จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงหลุดพ้นความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 และโจทก์ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 589,579.49 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินจำนวน 10,837.50 บาท ที่ชำระเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2538 และนำเงินจำนวน 150,000 บาท ที่ชำระเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ไปหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับ เหลือจำนวนหนี้เท่าใดจึงเป็นต้นเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อไป กับให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันใช้เงิน 4,611,995 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย คดีหมายเลขแดงที่ ล.95/2541 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในหนี้แต่ละประเภทแล้วเพียงใด ให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในคดีนี้ในหนี้ดังกล่าวลดลงเพียงนั้น ถ้าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนองเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 176574 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันรับผิดในหนี้แต่ละประเภทตามความรับผิดของตนในส่วนที่ขาดจนกว่าจะครบจำนวน กับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 รับผิดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์เกินกำหนด จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 3 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญา 2 ประเภท คือ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงิน (ประจำ) สำหรับหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน (ประจำ) จากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท และวันที่ 23 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน (ประจำ) จากโจทก์อีกจำนวน 13,000,000 บาท พันเอกวิจิตร ได้นำที่ดินรวม 10 โฉนด มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ทั้งสองครั้ง สำหรับการกู้เงินครั้งที่สองนอกจากมีพันเอกวิจิตรจดทะเบียนจำนองที่ดิน 10 โฉนด เป็นประกันแล้ว ยังมีจำเลยที่ 3 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 55827 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 4 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 176574 ตำบลคลองเตย อำเภอคลองเตย (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โดยตกลงยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาพันเอกวิจิตรได้ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์บางส่วน โจทก์จึงได้ปลดจำนองที่ดินทั้ง 10 แปลง ให้แก่พันเอกวิจิตรโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ และไม่มีหลักฐานแสดงความยินยอมจากจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า การที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่พันเอกวิจิตรซึ่งเป็นผู้จำนองค้ำประกันร่วมทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่พันเอกวิจิตรอาจทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิจากโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคสอง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายตามมาตรา 697 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.22 ข้อ 5 ระบุว่า “การค้ำประกันนี้ย่อมผูกพันผู้ค้ำประกันอย่างสมบูรณ์ตลอดไป… และผู้ค้ำประกันไม่พ้นจากการรับผิด เพราะเหตุผู้ให้กู้อาจกระทำการใดๆ ไป เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิใดๆ อันได้ให้หรืออาจได้ให้ไว้แก่ผู้ให้กู้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันนี้” อันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ตกลงกันยกเว้นบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 ซึ่งมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจตกลงกันให้มีผลเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงปลดจำนองค้ำประกันร่วมให้แก่พันเอกวิจิตร แม้จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามข้อสัญญาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ต่อไปว่า การปลดหนี้จำนองดังกล่าวให้แก่พันเอกวิจิตร เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย และจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ในเรื่องนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้จึงเป็นฎีกานอกฟ้องนอกคำให้การ เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในข้อนี้”
พิพากษายืน โจทก์ไม่ยื่นคำแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share