คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในสัญญาเช่าซื้อซึ่งแนบมาท้ายฟ้องระบุด้วยว่าผู้ลงชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยเป็นผู้แทนผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ จำเลยก็ให้การรับว่าได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์มิได้กล่าวว่าสัญญาไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทำสัญญาเช่าซื้อถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงเป็นการมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนชนิดไม่จำกัดความรับผิด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2509 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยสารไป 1 คัน ราคาค่าเช่าซื้อ 310,000 บาทและจำเลยที่ 1 ได้รับมอบรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วโดยตกลงว่า ในวันที่6 กุมภาพันธ์ 2510 จะชำระเงินให้โจทก์ 40,000 บาท ส่วนค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่อีก 270,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระให้โจทก์เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน เดือนละ 7,500 บาท โดยจะเริ่มชำระงวดแรกตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2510 เป็นต้นไป หากมีการติดค้างค่าเช่าซื้อ ยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังมีรายละเอียดตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้อง ในการเช่าซื้อนี้มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน ดังปรากฏตามสำเนาท้ายฟ้องเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไปแล้วก็ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายเดือนเรื่อยมา เนื่องจากเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไว้ล่วงหน้าบางเดือนก็เบิกเงินได้บางเดือนก็เบิกไม่ได้ รวมแล้วจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระให้โจทก์แล้ว 185,000 บาท ยังคงค้างอยู่อีก 125,000 บาท จำเลยที่ 1 ผิดนัดมาตั้งแต่งวดประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2511 ถึงงวดประจำเดือนพฤศจิกายน 2512 รวม 14 เดือน เป็นเงินที่ค้างชำระ 102,500 บาท ซึ่งโจทก์เคยทวงถามหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมให้โจทก์คิดเอาดอกเบี้ยต่อไปได้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 คิดเป็นเงินดอกเบี้ยทั้งสิ้น 9,406.50 บาท ดังรายการคิดดอกเบี้ยท้ายฟ้อง ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2512 จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ด้วยการส่งมอบรถยนต์คืน แต่รถยนต์มีสภาพชำรุดเกินกว่าการใช้ตามปกติ ทั้งเสื่อมราคาไปเพราะการครอบครองและใช้ประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ในระหว่างผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 14 เดือนอีกด้วย ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1 ส่งรถยนต์คืนเสียตั้งแต่เดือนตุลาคม 2511 แล้ว โจทก์จะให้ผู้อื่นเช่ารถยนต์คันนี้และได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างน้อยเดือนละ 7,500 บาท เมื่อได้รับรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์เห็นว่าหากจะเก็บรถยนต์คันนี้ไว้ก็มีแต่จะเกิดความเสียหายมากขึ้นโจทก์โฆษณาขายก็ไม่มีผู้ใดซื้อ โจทก์จึงขอให้องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ช่วยซื้อไปในราคา 75,000 บาท เมื่อเอาราคาที่ขายได้หักออกจากค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ 125,000 บาท แล้ว โจทก์คงได้รับความเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท รวมกับดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้นอีก 9,406.50 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 59,406.50 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ทราบการทวงถามแล้วก็เพิกเฉยเสีย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 59,406.50 บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง และใครจะเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์ดังฟ้องของโจทก์จริง โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการเป็นผู้ทำการแทน จำเลยไม่เคยผิดนัดค้างชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์งวดใดเลย จำเลยได้ชำระแล้วจนถึงเดือนกันยายน 2511 เป็นเงิน 185,000 บาท ส่วนที่เหลือ 125,000 บาท จำเลยไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระให้โจทก์อีก เพราะในเดือนตุลาคม 2511 จำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ โดยจำเลยนำรถยนต์ไปส่งคืนให้โจทก์รับมอบไว้แล้ว แต่โจทก์ได้ขอฝากรถยนต์ไว้กับอู่เก็บรถยนต์ของจำเลยเพราะโจทก์ไม่มีที่เก็บ และโจทก์ว่าจะรับไปจากจำเลยเอง หลังจากได้รับฝากไว้ 2 เดือนเศษ จำเลยจำเป็นต้องใช้สถานที่เก็บรถยนต์ของจำเลย จำเลยจึงติดต่อให้โจทก์มารับรถคืนแต่โจทก์ไม่ไปรับ จำเลยจึงนำรถยนต์ไปคืนให้แก่โจทก์ในเดือนธันวาคม2511 โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าซื้อ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ย จำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในระหว่างที่จำเลยผิดนัด รถยนต์ของโจทก์ใช้การไม่ได้ดีดังที่โจทก์โฆษณาแสดงว่าโจทก์ได้หลอกลวงจำเลยให้ซื้อทรัพย์สินซึ่งมีความชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันจำเลยมุ่งจะใช้เป็นปกติ จำเลยหาต้องรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ ไม่ และถึงแม้จะฟังว่าจำเลยต้องรับผิด แต่ค่าเสียหายก็ไม่ถึง 50,000 บาท เพราะถึงอย่างไรรถยนต์คันดังกล่าวก็ต้องขายได้ราคาเกิน 75,000 บาท ถ้าหากได้นำไปขายให้แก่บุคคลทั่ว ๆ ไป

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธความรับผิด โดยยกข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 เป็นใจความเช่นเดียวกับคำให้การของจำเลยที่ 1 และว่าจำเลยที่ 3 รับว่าได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริง แต่แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ผิดนัดแต่จำเลยที่ 3 ก็หาต้องรับผิดไม่ เพราะจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าให้โจทก์ไว้ บางงวดโจทก์ก็เบิกได้ บางงวดโจทก์ก็เบิกไม่ได้จำเลยที่ 3 ไม่เคยทราบเรื่องนี้และงวดที่เบิกไม่ได้โจทก์ก็ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ ยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนผันการชำระหนี้มาโดยตลอด การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนผันการชำระหนี้ซึ่งมีกำหนดเวลาไว้ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน

จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 มีชื่อรับมอบอำนาจเป็นผู้ลงชื่อแทนกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาเช่าซื้อกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์แล้วจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญากับโจทก์โดยมีตัวแทนของโจทก์เป็นผู้ทำสัญญากับจำเลย ซึ่งพอหมายความได้ว่า ได้มีการตั้งตัวแทนมาโดยถูกต้องแล้วนั่นเอง ทั้งจำเลยก็รับมาในคำให้การอยู่ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อจริง จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาถึงสัญญาเช่าซื้อว่าจะใช้ได้หรือไม่ศาลชั้นต้นไม่ควรที่จะยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเอง เพราะไม่ใช่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเสีย ให้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้น เพื่อให้พิพากษาใหม่ตามประเด็นที่โต้เถียงกัน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่พิพาท และกล่าวว่าได้แนบสัญญาเช่าซื้อมาพร้อมกับฟ้องด้วย สำเนาสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์แนบมาพร้อมกับฟ้องจึงเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ในสัญญาเช่าซื้อได้ระบุเป็นใจความอยู่ว่าพลตำรวจจัตวารัตน์ วัฒนะมหาตม์ ซึ่งลงชื่อเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นผู้แทนผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อ 2 ซึ่งมีข้อความว่า “โจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง และใครจะเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง” นั้นเห็นว่าเป็นคำให้การที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดว่า จำเลยได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นด้วยแต่อย่างใดเลย คำให้การของจำเลยข้อนี้ดูจะเป็นเรื่องที่จำเลยมุ่งถึงเรื่องฐานะความเป็นนิติบุคคลของโจทก์และบุคคลที่จะมีอำนาจจัดการลงชื่อฟ้องคดีแทนโจทก์ได้เสียมากกว่า เพราะในคำให้การข้อ 3 ซึ่งจำเลยกล่าวถึงสัญญาเช่าซื้อ จำเลยก็รับว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ดังฟ้องจริง จำเลยมิได้กล่าวไว้ในที่ใดเลยว่า สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด ศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การของจำเลยเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งถึงเรื่องความถูกต้องในฐานะความเป็นตัวแทนของพลตำรวจจัตวารัตน์ วัฒนะมหาตม์ ฉะนั้นการที่โจทก์นำสืบตามฟ้องโจทก์โดยส่งเอกสารสัญญาเช่าซื้อตามที่โจทก์กล่าวอ้างต่อศาลย่อมเป็นการเพียงพอที่จะแสดงถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่พิพาทกันในคดีนี้แล้ว โจทก์หาจำต้องนำสืบถึงเรื่องการมอบอำนาจจากบุคคลผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทโจทก์อีกไม่ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึงฎีกาของจำเลยข้ออื่น ๆ อีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ตามประเด็นที่โต้เถียงกัน จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share