แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือปริยาย ทั้งกฎหมายไม่ได้จำกัดคำว่าพรากไปโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์เป็นฝ่ายออกไปจากบ้านเองหรือมีผู้ชักนำก็ย่อมเป็นความผิด จำเลยเป็นผู้แจ้งแก่ผู้เยาว์ขณะอยู่กับโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า หาที่พักได้แล้วที่ เอส.ที.แมนชั่น ผู้เยาว์จึงหนีออกจากบ้านของโจทก์ร่วมเดินทางไปหาจำเลยที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว จำเลยไม่ต้องเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วยตนเอง ผู้เยาว์เดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี เมื่อผู้เยาว์เดินทางมาถึงสถานีรถไฟดอนเมืองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จากนั้นจำเลยพาผู้เยาว์ไปที่ เอส.ที.แมนชั่น เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง เมื่อผู้เยาว์เดินทางไปในหลายท้องที่ต่างกันจึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่และเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1), (3) และวรรคสอง ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีอันเป็นท้องที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนและเมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดอยู่ก่อนจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140, 141 และ 142 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายถนอม บิดาของนางสาว ป. ผู้เยาว์ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า นางสาว ป. ผู้เยาว์ เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ร่วมกับนางประไพ ขณะเกิดเหตุอยู่ในความปกครองของโจทก์ร่วมโดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 547/2 หมู่ที่ 18 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ผู้เยาว์หนีออกจากบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยนั่งรถไฟไปพบจำเลยที่สถานีรถไฟดอนเมือง กรุงเทพมหานคร จากนั้นจำเลยพาผู้เยาว์ไปพักที่เอส.ที.แมนชั่น ห้องที่ 112 ซอยลาดพร้าว 80/2 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร โจทก์ร่วมทราบว่าผู้เยาว์ไปพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่สถานที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2543 จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2543 โจทก์ร่วมและนางประไพได้พาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางไปจับกุมจำเลยได้ขณะอยู่ในห้องพักดังกล่าวกับผู้เยาว์และแจ้งข้อหาว่าพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีมีอำนาจสอบสวนและสั่งฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือปริยาย ทั้งกฎหมายไม่ได้จำกัดคำว่าพรากไปโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์เป็นฝ่ายออกไปจากบ้านเองหรือมีผู้ชักนำก็ย่อมเป็นความผิด จำเลยเป็นผู้แจ้งแก่ผู้เยาว์ขณะอยู่กับโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า หาที่พักได้แล้วที่เอส.ที.แมนชั่น ผู้เยาว์จึงหนีออกจากบ้านของโจทก์ร่วมเดินทางไปหาจำเลยที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว จำเลยไม่ต้องเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วยตนเอง ผู้เยาว์เดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี เมื่อผู้เยาว์เดินทางมาถึงสถานีรถไฟดอนเมืองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จากนั้นจำเลยพาผู้เยาว์ไปที่เอส.ที.แมนชั่น ซอยลาดพร้าว 80/2 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง เมื่อผู้เยาว์เดินทางไปในหลายท้องที่ต่างกันจึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่และเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1), (3) และวรรคสอง ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีอันเป็นท้องที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน ส่วนอำนาจสรุปสำนวนและสั่งฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดอยู่ก่อนจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140, 141 และ 142 ได้ ที่จำเลยฎีกาว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีไม่มีอำนาจสอบสวนและสั่งฟ้องนั้น จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ นั้น ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิจารณาคดีมาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้วก็ตามแต่ศาลฎีกาก็ยังไม่สมควรที่จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียว หากแต่เห็นสมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาตามลำดับชั้นของศาล ทั้งนี้เพราะคดีอาจถูกจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาได้
พิพากษายืน