แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลย พิพากษายกฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยกระทำความผิดสัญญาจ้างแรงงานและข้อตกลงตามสัญญา และกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ข้อที่ว่า คดีก่อนศาลแรงงานกลางฟังข่อเท็จจริงไม่ถูกต้องเพราะพยานจำเลยเบิกความอันเป็นความเท็จทำให้ศาลหลงเชื่อก็ดี บทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับใช้หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วให้ความหมายของคำว่านายจ้างแตกต่างจากที่บัญญัติในกฎหมายเดิมก็ดี มิใช่ข้อยกเว้นที่ ป.วิ.พ. มาตรา 148 บัญญัติไว้อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้อีก
ข้อที่ว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตาม ป.วิ.พ ม. 148 (3) นั้น จะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ยกฟ้องนั้นด้วยโจทก์จึงจะมีสิธิฟ้องใหม่ได้ เมื่อคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางคดีก่อนมิได้ระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นใจความว่า โจทก์ที่ 1 สมัครเข้าทำงานกับจำเลยเมื่อปี 2514 ในตำแหน่งเสมียนประจำหน่วยซ่อมบำรุงรถยนต์ และโจทก์ที่ 2 สมัครเข้าทำงานกับจำเลยเมื่อปี 2515 ในตำแหน่งเสมียนประจำหน่วยซ่อมบำรุงทั่วไป ต่อมาจำเลยตกลงจ้างบริษัทรับเหมาทั้งสามบริษัท คือ บริษัทอมรกิจ จำกัด บริษัท เอ.เอ็ม.ไทย จำกัด และบริษัทเวสต์ แฮม ยูไนเต็ด จำกัด โดยจำเลยได้โอนพนักงานซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วยไปอยู่ในความดูแลของบริษัทรับเหมาดังกล่าว โดยมีข้อตกลงกันทั้งสามฝ่าย คือ จำเลยมีข้อตกลงกับผู้รับเหมาฝ่ายหนึ่ง และผู้รับเหมามีข้อตกลงกับพนักงานอีกฝ่ายหนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมจากจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2540 มาตรา 20 ซึ่งระบุว่า การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญัติดังกล่าว ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใด และการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตาม ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียสิทธิอันพึงที่จะได้รับ และได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์แต่ละคนดังนี้ 1. สิทธิที่จะได้เงินจนครบอายุการทำงาน โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 3,018,384 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 3,186,072 บาท 2. เงินประกันสังคมเป็นเงินคนละ 4,192,200 บาท 3. ค่าเสียหายเกี่ยวกับเงินเดือนที่พึงจะได้รับ โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 120,027,392 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 13,738,474 บาท 4. ค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าอาหารและค่าพาหนะตามอายุงาน โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 301,500 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 342,000 บาท ค่าเสียหายสำหรับเงินค่าล่วงเวลา โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 13,487,904 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 15,299,712 บาท 6. ค่าเสียหายในเงินค่าอาหารและค่ารถสำหรับการทำงานล่วงเวลา โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 433,758 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 492,024 บาท 7. ค่าเสียหายในเงินรางวัลปฏิบัติงานโดยไม่ขาดงาน โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 160,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 190,000 บาท 8. ค่าเสียหายสำหรับเงินโบนัส โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 894,336 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,062,024 บาท 9. ค่าเสียหายในเงินรางวัลอายุงานที่ปฏิบัติงานเกิน 11 ปี ขึ้นไป โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2,012,256 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 2,124,048 บาท 10. ค่าเสียหายในเงินรางวัลความปลอดภัยโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 16,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 19,000 บาท 11. ค่าเสียหายในเงินค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นเงินคนละ 670,680 บาท 12. ค่าเสียหายในเงินรางวัลเกียรติคุณเป็นเงินคนละ 121,000 บาท 13. ค่าเสียหายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 1,200,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 31,308,826 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 35,258,962 บาท นอกจากนี้จำเลยยังต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เงินเพิ่มในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไป ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 31,308,826 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 35,258,962 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2534 เป็นต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยให้ข้อหาเดียวกันกับคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางมาแล้วหลายครั้ง คดีถึงที่สุดไปแล้ว ฟ้องฟ้องเป็นฟ้องซ้ำ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความแล้ว จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางมาแล้วเป็นคดีหมายเลขดำที่ 11282-11283/2536 หมายเลขแดงที่ 7404-7405/2537 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลย และพิพากษายกฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีและคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย เรียกค่าเสียหายจากจำเลยอีก จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ทั้งโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความอีกด้วย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 7404-7405/2537 ของศาลแรงงานกลาง หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีก่อนศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมิใช่ลูกจ้างจำเลยเพราะนายเพียรศักดิ์ ชื่นพิทยาธร พยานจำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของนายเพียรศักดิ์ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย ทำให้ศาลแรงงานหลงเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมิใช่ลูกจ้างจำเลย ทั้งต่อมาภายหลังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาบังคับใช้ ซึ่งมาตรา 5 ให้ความหมายของคำว่านายจ้างไว้และโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิด ไม่ได้บอกกว่างล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นนายจ้างโจทก์ทั้งสอง ประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนจึงมีว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางคดีหมายเลขแดงที่ 7404-7405/2537 เอกสารหมายเลข ล.1 โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ไม่ชอบ ไม่รับวินิจฉัย แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 2409-2410/2538 เอกสารหมาย ล.2 คดีก่อนจึงถึงที่สุดไปแล้ว คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและข้อตกลงตามสัญญา และกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นลูกจ้าง จำเลย ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่ว่า คดีก่อนศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องเพราะนายเพียรศักดิ์ ชื่นพิทยาธร พยานจำเลยเบิกความอันเป็นความเท็จทำให้ศาลหลงเชื่อก็ดี บทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับใช้หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วให้ความหมายของคำว่านายจ้างแตกต่างจากที่บัญญัติในกฎหมายเดิมก็ดี หาใช่ข้อยกเว้นที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 บัญญัติไว้อันจะทำให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้อีก ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ด้วยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 (3) มีข้อยกเว้นให้ฟ้องใหม่ได้ เมื่อมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกฟ้องไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้อีกนั้น เห็นว่า ข้อที่ว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ยกฟ้องนั้นด้วยโจทก์จึงจะมีสิทธิฟ้องใหม่ได้ เมื่อคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางคดีหมายเลขแดงที่ 7404-7405/2537 ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นคำพิพากษาในคดีก่อนมิได้ระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ใหม่ กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลแรงงานกลางยกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน