คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1055/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ฯลฯ จำเลยนี้บังอาจทำไม้โดยตัดฟัน ฯลฯ ไม้เต็ง ฯลฯ อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2505 ฯลฯ โดยมิได้รับอนุญาต ฯลฯ” ถือได้ว่าครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว หาจำต้องบรรยายโดยใช้คำว่า “ในป่า” ประกอบคำว่า “ทำไม้” หรือ “ตัดฟันไม้” ด้วยไม่
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 นั้นบังคับเฉพาะการนำไม้ที่ทำออกตามใบอนุญาตเคลื่อนที่ภายหลังที่ได้นำไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาต หรือการนำไม้ที่ทำออกโดยไม่ต้องรับอนุญาตเคลื่อนที่ภายหลังไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกตามความในมาตรา 38 เท่านั้น ส่วนการนำไม้ห้วงห้ามที่ทำโดยไม่ได้รับอนุญาตเคลื่อนที่หาเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 39 ไม่ (อ้างฎีกาที่ 1018/2496 และฎีกาที่ 341/2498)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจทำไม้โดยตัดฟันและนำเคลื่อนที่ซึ่งไม้เต็งจำนวน ๒ ต้น เนื้อไม้ ๑.๓๐ ลูกบาศก์เมตร อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๔๐๕ และเป็นไม้ที่ไม่มีรอยตราของพนักงานเจ้าหน้าที่ประทับ โดยมิได้รับอนุญาตและไม่ได้รับสัมปทาน และไม่มีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยถ่านไม้ซึ่งจำเลยได้เผาเป็นถ่าน ๔ กระสอบ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๑๑,๓๙,๗๑,๗๓,๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๑๓,๑๗ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่า จำเลยตัดฟันต้นไม้ในป่าจึงขาดสารสำคัญที่จะเป็นความผิด ส่วนข้อหานำไม้เคลื่อนที่โดยไม่รับอนุญาตตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ความตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๓๘ พิพากษายกฟ้อง คืนของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า “ฯลฯ จำเลยนี้ได้บังอาจทำไม้โดยตัดฟัน ฯลฯ ไม้เต็ง ฯลฯ อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๕๐๕ ฯลฯ โดยมิได้รับอนุญาต ฯลฯ” ถือได้ว่าครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) แล้ว เพราะคำว่า”ทำไม้” ได้นิยามไว้ในมาตรา ๔(๕) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๕แล้วว่า หมายความว่า ตัดฟัน ฯลฯ ไม้ในป่า ทั้งโจทก์บรรยายประกอบคำว่า “ทำไม้” ด้วยว่า “โดยตัดฟันไม้เต็งอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๕๐๕” ซึ่งจะเห็นได้อีกชั้นหนึ่งตามมาตรา ๗ แห่งพราะราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ ว่า ไม้ที่โจทก์ฟ้องเป็นไม้ในป่า เพราะไม้ที่ไม่ใช่ไม้สักและไม้ยางนั้น พระราชกฤษฎีกาจะกำหนดเป็นไม้หวงห้ามได้ต่อเมื่อเป็นไม้ในป่า ฟ้องโจทก์จึงได้ความแล้วว่าจำเลยตัดฟันไม้เต็งในป่า โจทก์หาจำต้องบรรยายโดยใช้คำว่า “ในป่า” ประกอบคำว่า “ทำไม้” หรือ “ตัดฟันไม้” ด้วยไม่
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยนำไม้รายนี้เคลื่อนที่โดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๓๘ นั้น เห็นว่ามาตรา ๓๙ บังคับเฉพาะการนำไม้ที่ทำออกตามใบอนุญาตเคลื่อนที่ภายหลังที่นำไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตหรือการนำไม้ที่ทำออกโดยไม่ต้องรับอนุญาตเคลื่อนที่ภายหลังไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกตามความในมาตรา ๓๘ เท่านั้น ส่วนการนำไม้หวงห้ามที่ทำออกโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นไม้รายนี้เคลื่อนที่ หาเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ ไม่ ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๑๘/๒๔๙๖ และที่ ๓๔๑/๒๔๙๘
พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๔ และมาตรา ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ ปรับ ๓๐๐ บาท ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ปรับ ๑๕๐ บาท ริบของกลาง

Share