คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พยานไม่มาศาลตามนัด โดยทนายไม่ทราบเหตุขัดข้องนั้นจะถือว่าเป็นความผิดของคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้นยังไม่ได้ เพราะมีบทกฎหมายที่จะให้ตัวมาสืบอยู่ ศาลจึงควรให้เลื่อนคดีไป จะด่วนตัดไม่ให้สืบพยานที่ไม่มานั้นยังไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 2853 ตำบลบางหว้า อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2497 จำเลยบังอาจปักเสาไฟฟ้า 4 ต้น ลงในที่ดินของโจทก์ และพาดสายไฟฟ้าบนเสานั้น ทั้งตัดฟันกิ่งพุดซาของโจทก์ด้วย ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไปให้พ้นที่ดินของโจทก์ และทำที่ดินให้คงคืนสภาพเดิม กับใช้ค่าเสียหายในการตัดกิ่งพุดซาอีก 1,500 บาท

จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน จึงได้ปักเสาเดินสายไฟตามชายฝั่งคลองภาษีเจริญระหว่างทางเดินกับริมฝั่งชายคลองติดทางสาธารณะซึ่งประชาชนใช้เดินมาช้านานประมาณ 30 ปี แล้ว หากจะเป็นที่ดินของโจทก์ก็กลายเป็นที่สาธารณะแล้ว ทั้งตามกฎหมายอยู่ในเขตของกรมชลประทานด้วยเรื่องค่าเสียหายโจทก์เรียกร้องเกินความจริงและไร้เหตุผล

คู่ความรับกันว่า ตรงที่จำเลยปักเสาก็ดี ต้นพุดซาที่จำเลยตัดก็ดีอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ ประเด็นในข้อเท็จจริงจำเลยมีหน้าที่สืบก่อนว่าที่พิพาทได้เคยเป็นที่สาธารณะแล้วหรือไม่สำหรับค่าเสียหายของโจทก์นั้น เพื่อที่จะไม่ต้องสืบกลับไปกลับมา จำเลยยอมสืบก่อนด้วย

ศาลแพ่งได้สืบพยานจำเลยแล้ว 4 คน ถึงวันนัดถัดไปคู่ความต่างขอเลื่อนไปทำความปรองดองกัน แต่ไม่เป็นที่ตกลง จึงนัดสืบพยานจำเลยต่อไป ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2498 ในวันนัดนี้ จำเลยแถลงต่อศาลว่า พยานที่จะสืบมีเพียง 3 คน คือ นายสี พยานนำ พยานหมายคือ นางทองสุกและนายวิชัย แต่พยานทั้ง 3 คนหามาศาลไม่ โดยไม่ทราบเหตุขัดข้อง ขอเลื่อน ฝ่ายโจทก์คัดค้านว่า ไม่ควรให้เลื่อน ศาลแพ่งเห็นว่า เมื่อทนายไม่ทราบเหตุขัดข้องในการที่พยานไม่มาศาลก็ไม่สมควรให้เลื่อนและถือว่าหมดพยานจำเลย แล้วสืบพยานโจทก์ต่อไปจนเสร็จและวินิจฉัยว่า ที่ดินตรงที่พิพาทกันอยู่นอกทางเดิน คือระหว่างทางเดินและริมชายฝั่งคลองจึงเป็นที่ดินของโจทก์ หาใช่ที่สาธารณะไม่ ฉะนั้นทางเดินจะเป็นทางสาธารณะหรือไม่ จึงนอกประเด็นการที่จำเลยตัดต้นพุดซาของโจทก์เป็นละเมิดอันควรให้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์ 750 บาท จึงพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนเสาไฟฟ้า 4 ต้นออกไปให้พ้นที่ดินของโจทก์ และทำที่ดินให้คืนสภาพเดิม ทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย 750 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่ศาลแพ่งสั่งตัดนางทองสุกและนายวิชัยพยานหมายเสียนั้น ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา อาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลแพ่ง และให้ศาลแพ่งสืบนางทองสุก วงษ์ตัด กับนายวิชัย โสภารัตน์ พยานของจำเลยและพยานโจทก์ ถ้าโจทก์ประสงค์จะสืบแก้พยานจำเลยทั้งสองนั้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในข้อที่ให้จำเลยสืบพยาน 2 ปาก แล้วย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาประเด็นข้ออื่นต่อไป

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาคดีแล้ว เหตุที่ศาลแพ่งยกขึ้นตัดมิให้จำเลยสืบนางทองสุกและนายวิชัยมีประการเดียวว่า ทนายจำเลยไม่ทราบเหตุขัดข้องในการที่พยานไม่มาศาล ข้อนี้ไม่ได้ความว่า มีการทักท้วงหรือติดใจว่ากล่าวกันในปัญหาว่า จำเลยมิได้ส่งหมายให้แก่พยาน จึงไม่เป็นการชอบที่โจทก์จะรื้อฟื้นมาว่ากล่าวในขณะนี้และจะหาว่าจำเลยประวิงความให้ล่าช้าก็ไม่ได้ เพราะนายวิชัยนั้นปรากฏเหตุขัดข้องมาก่อนว่าถูกรถชนบาดเจ็บมาศาลไม่ได้ เมื่อคู่ความเลื่อนสืบก็เผอิญให้คิดจะทำการปรองดองกัน ถึงนัดที่ถัดไปจากการไม่ตกลง นายวิชัยไม่มา ดังนี้ก็มีบทกฎหมายให้ทำเพื่อได้ตัวมาสืบอยู่ อนึ่ง ตามพฤติการณ์ในท้องสำนวนปรากฏว่า จำเลยเป็นฝ่ายที่ไม่ต้องการให้คดีล่าช้า เช่น ในเรื่องค่าเสียหายซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์จะสืบแสดง จำเลยก็ยอมรับเป็นผู้สืบก่อนทั้งที่จำเลยอาจเสียเปรียบก็เป็นหลักฐานให้เห็นอยู่ ฉะนั้น ตามที่ศาลอุทธรณ์ปรึกษาไว้จึงชอบแล้ว

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลแพ่งรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่

Share