คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054-1055/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำเรือรบแล่นตามแม่น้ำจะผ่านสะพานพระพุทธยอดฟัง เห็นแต่ไกลว่าสะพานยังไม่เปิด จำเลยควรจะชลอความเร็วแล้วเดินหน้าถอยหลังจนกว่าสะพานเปิด แต่ก็ไม่ทำ กลับให้หยุดเดินเครื่องปล่อยให้เรือลอยไปตามกระแสน้ำใกล้สะพานจึงทิ้งสมอจอดเรือเรือก็กลับลำเอาท้ายเรือไปปะทะเรือ สะพานและรั้วของราษฎรซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเสียหาย ถ้าน้ำไหลและลมพัดอย่างปกติตามฤดูกาลเท่านั้นแล้ว จำเลยจะอ้างไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะป้องกันได้เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยวและลมก็พัดแรง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องในทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้บังคับการเรือโพธิ์สามต้น อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ได้ควบคุมเรือโพธิ์สามต้นแล่นออกจากท่ากรมอู่ทหารเรือเพื่อไปจอดที่บางนา โดยกระทำโดยประมาท ทำให้ท้ายเรือปัดไปชนเรือบรรทุกลำของนายเซ้ง แซ่เอี้ย ล่ม และเบียดชนสะพานอู่ซ่อมเรือ หลักผูกจอดเรือ และรั้วบ้านของนางสาวมาลี จงรุ่งเรือง เสียหาย ขอให้จำเลยร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ควบคุมเรือรบหลวงโพธิ์สามต้นไปจริง แต่การที่ท้ายเรือปัดไปปะทะท่าน้ำและเรือของราษฎรนั้น เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ จำเลยที่ ๑ มิได้ประมาท ความเสียหายไม่มากดังฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ ๑ ประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์จริง พิพากษาให้ร่วมกันและแทนกันใช้เงินแก่โจทก์
นางสาวมาลีโจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายให้แก่นางสาวมาลีโจทก์เพิ่มเติม
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ได้นำเรือรบหลวงโพธิ์สามต้นแล่นมาตามลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้าด้วยความประมาทเลินเล่อจริง เพราะจำเลยที่ ๑ ได้นำเรือออกจากท่ากรมอู่ทหารเรือ เพื่อจะผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้าก่อนกำหนดเวลาที่จำเลยว่าเวลาประมาณ ๑๓.๒๘ นาฬิกา สะพานยังเปิดเสร็จไม่เรียบร้อย ทำให้จำเลยที่ ๑ ต้องสั่งให้ทิ้งสมอเพื่อจอดเรือนั้น ฟังไม่ได้เพราะฟังได้ว่าสะพานได้เปิดเรียบร้อยก่อนตั้ง ๒ นาทีแล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมสามารถที่จะนำเรือผ่านสะพานไปได้โดยปลอดภัย
ในประการต่อไป จำเลยที่ ๑ อ้างว่า พอเรือแล่นมาถึงหน้าวัดอรุณราชวราราม เห็นสะพานพระพุทธยอดฟ้ายังไม่เปิด จำเลยที่ ๑ จึงสั่งให้หยุดเดินเครื่องและให้ประคองลำเรือให้หัวเรือตรงร่องน้ำไว้ จนเรือไหลมาห่างสะพานพระพุทธยอดฟ้าประมาณ ๑ ถึง ๒ กิโลเมตร สะพานจึงได้เริ่มเปิด เรือก็ยังคงไหลตามน้ำตามลมอยู่ จนห่างสะพานราว ๒๕๐ เมตร จำเลยที่ ๑ จึงสั่งให้ทิ้งสมอจอดเรือ การที่จำเลยที่ ๑ กระทำดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ เห็นสะพานยังไม่เปิดในขณะที่เรือยังอยู่ห่างจากสะพานถึง ๒ กิโลเมตร จำเลยที่ ๑ ย่อมรู้ดีว่าควรทำอย่างไร เรือจึงจะผ่านไปได้โดยปลอดภัย ในข้อนี้นาวาเอกทวิช บุณยรัตพันธ์ ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับการเรือลำนี้มาก่อนจำเลยที่ ๑ ก็เคยนำเรือผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้าเช่นกันโดยบางครั้งก็ต้องรอสะพานเปิดเพราะเปิดไม่ทันเวลา ในระยะที่เรือยังอยู่ห่างจากสะพานประมาณ ๒ กิโลเมตร ก็สามารถที่จะแต่งลำเรือได้ โดยให้ชลอแล้วเดินหน้าถอยหลังจนกว่าสะพานจะเปิด จำเลยก็น่าจะได้กระทำดังนี้เสียแต่ในระยะแรกที่เห็นว่าสะพานยังไม่เปิด แต่จำเลยก็มิได้ปฏิบัติ กลับสั่งให้หยุดเดินเครื่อง ซึ่งย่อมไม่สามารถบังคับให้ถอยหลังเพื่อชะลอให้ถึงสะพานช้าไปได้ การจะคิดแก้ไขข้อขัดข้องนี้ จำเลยที่ ๑ ควรจะรู้ถึงกระแสน้ำที่ไหลและกระแสลมที่พัดอยู่ในขณะนั้นว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ควรจะทำอย่างไร น่าจะเห็นได้ว่าการแก้ไขให้ทันท่วงทีนั้นจะต้องกระทำเสียเมื่อเรือยังอยู่ในระยะห่างไกลสะพาน ข้อนี้วิญญูชนธรรมดาก็จะต้องเห็นและคิดได้ ที่จำเลยที่ ๑ คิดมาแก้ไขเหตุการณ์ในเมื่อเรือไหลมาใกล้สะพานเช่นในคดีนี้ จึงนับได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยอีกข้อหนึ่ง
ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ ๑ จะป้องกันได้เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยวและลมพัดแรงนั้น เห็นว่าเหตุสุดวิสัยนั้นจะไม่สามารถที่ใคร ๆ จะป้องกันได้ เช่น น้ำป่าไหลบ่ามาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เกิดพายุใหญ่พัดมาอย่างกะทันหัน หรือฟ้าผ่า เป็นต้น สำหรับกรณีของจำเลยเป็นเพียงน้ำไหลและลมพัดอย่างปกติตามฤดูกาลเท่านั้น จะอ้างไม่ได้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถจะป้องกันได้ พิพากษายืน

Share