คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นบังคับคดี จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยื่นคำร้องคัดค้านว่า ศาลแรงงานกลางมิได้ออกหมายอายัดส่งไปยังจำเลยร่วม จำเลยร่วมได้ใช้สิทธิตามข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญารับจ้างเหมาที่จำเลยร่วมเป็นผู้ว่าจ้างและจำเลยเป็นผู้รับจ้างที่จะหักเงินค่าจ้างตามที่โจทก์ลูกจ้างขออายัดนำไปจ่ายให้แก่ลูกจ้างของจำเลยคือโจทก์แล้ว และจำเลยร่วมได้แจ้งการใช้สิทธิดังกล่าวให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิการเรียกร้องเงินค่าจ้างทราบด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้จากจำเลยร่วม เช่นนี้คำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยร่วมได้รับคำสั่งอายัดทรัพย์ปฏิเสธโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องและต่อสู้กับโจทก์อันเป็นการโต้แย้งหนี้ที่เรียกเอาแก่ตน หาใช่เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องเท่านั้นไม่ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมโดยมิได้ไต่สวนคำร้องของจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 ก่อน ถือได้ว่ามิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำสั่งตามมาตรา243 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาย่อมยกคำสั่งศาลแรงงานกลาง และให้รับคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมไว้ดำเนินการไต่สวนแล้วพิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมชำระเงินให้โจทก์ ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยร่วม ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 639/2530ต่อมาศาลแรงงานกลางออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินของจำเลยจากจำเลยร่วมเป็นเงิน 777,890บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขออายัดเงินดังกล่าวไปยังจำเลยร่วม
ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางว่า จำเลยได้ทำสัญญารับจ้างเหมาทำการก่อสร้างกับจำเลยร่วม จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างทั้งหมด 3,234,218บาท ให้แก่ผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ และจำเลยร่วมได้ยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวด้วย ผู้ร้องได้ติดต่อขอรับเงินที่จำเลยร่วมค้างชำระรวม 2 งวด เป็นเงิน 1,115,858 บาทจึงทราบว่าโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดห้ามมิให้จำเลยร่วมจ่ายเงินจำนวน 777,890 บาท แก่จำเลย ผู้ร้องเห็นว่าเงินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเงินดังกล่าว และขอให้จำเลยร่วมชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เงินจำนวน 777,890 บาท เป็นเงินของจำเลยตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยร่วมผู้ว่าจ้างกับจำเลยผู้รับจ้าง จะมีการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ โจทก์ไม่รับรอง สิทธิที่โจทก์จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยย่อมมาก่อนสิทธิของผู้ร้องเพราะเงินดังกล่าวเป็นผลที่เกิดจากการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น หากโจทก์ไม่ทำงานให้จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างเหมาจากจำเลยร่วม ขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง และให้จำเลยร่วมส่งเงินจำนวน 777,890 บาท ไปยังศาลแรงงานกลางต่อไป
จำเลยร่วมยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องมีสิทธิจะได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างเพียงเท่าที่จำเลยจะพึงได้รับจากจำเลยร่วม เมื่อสิทธิในการรับเงินดังกล่าวได้โอนไปยังผู้ร้องแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาและโจทก์ไม่มีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวได้ และจำเลยร่วมคัดค้านคำร้องของผู้ร้องว่า ตามสัญญาจ้างระบุว่าถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว ซึ่งผู้ร้องได้รับทราบแล้ว เมื่อจำเลยร่วมได้แจ้งการใช้สิทธินำเงินค่าจ้างที่จำเลยร่วมจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างของจำเลยคือโจทก์ในคดีนี้ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวน777,890 บาท จากจำเลยร่วมอีกต่อไป ขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเงิน 777,890 บาท และขอให้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเสียด้วย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ที่จำเลยร่วมยื่นคำร้องคัดค้านให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินของโจทก์ และขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องที่จะให้ศาลวินิจฉัยว่าใครจะมีสิทธิในเงินดังกล่าว จำเลยร่วมมีหน้าที่เพียงจะส่งเงินตามหนังสืออายัดเท่านั้น จึงให้ยกคำร้องดังกล่าว
จำเลยร่วมอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า’ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 บัญญัติว่า’ถ้าบุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดทรัพย์ปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตน ศาลอาจทำการไต่สวนและ(1) ถ้าศาลเห็นเป็นที่พอใจว่าหนี้ที่เรียกร้องนั้นมีอยู่จริง ก็ให้มีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตามคำสั่งอายัดหรือ (2) ถ้าศาลเห็นว่ารูปเรื่องจะทำให้เสร็จเด็ดขาดไม่ได้สะดวกโดยวิธีไต่สวน ก็ให้มีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะให้เรื่องเสร็จเด็ดขาดไปตามที่เห็นสมควร ฯลฯ’ ดังนี้เห็นว่าตามอุทธรณ์ของจำเลยร่วมและตามคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นกรณีที่จำเลยร่วมผู้ได้รับคำสั่งอายัดทรัพย์ปฏิเสธและโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องและต่อสู้คดีกับโจทก์ อันเป็นการโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตน กับโต้แย้งว่าหนังสืออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมิใช่คำสั่งอายัดที่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย หาใช่เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องเท่านั้นดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ ถึงแม้หลังจากจำเลยร่วมอุทธรณ์คำสั่งแล้วจำเลยร่วมจะนำเงินตามจำนวนที่อายัดมาวางศาลโดยหักภาษีณ ที่จ่าย และภาษีการค้าไว้ก็ตาม (สำนวนอันดับ 29,30) ก็เป็นเพียงจำเลยร่วมได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลแรงงานกลางที่สั่งให้จำเลยร่วมส่งเงินตามหนังสืออายัดมาวางศาลภายใน 7 วันเท่านั้น หาทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยร่วมต่อผู้ร้องและต่อโจทก์ตามคำร้องคัดค้านและข้ออุทธรณ์ของจำเลยร่วมดังกล่าวข้างต้นระงับสิ้นไปไม่ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมโดยมิได้ไต่สวนคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมให้สิ้นกระแสความเสียก่อน ถือได้ว่ามิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำสั่งตามมาตรา 243ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ดังนั้น จึงสมควรดำเนินการไต่สวนคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมต่อไปตามนัยที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ทำนองเดียวกับการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของโจทก์ด้วย ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมเสียนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยร่วมฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้รับคำร้องคัดค้านของจำเลยร่วมไว้ดำเนินการไต่สวน แล้วพิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี’.

Share