แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยแจ้งหรือร้องเรียนเท็จ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่าคำร้องเรียนที่โจทก์กล่าวหาไม่ใช่ความเท็จดังโจทก์ฟ้อง โจทก์ฎีกาว่าข้อความที่จำเลยร้องเรียนเป็นเท็จ ดังนี้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คำร้องเรียนที่มีข้อความว่า “อนึ่ง ได้ทราบจากคำเล่าลือและคำบอกเล่าว่าพระภิกษุ สุวรรณ์จารุโภ มีอาวุธปืนเถื่อนและลูกระเบิดมือไว้ในความครอบครองเมื่อเจ้าหน้าที่จะไปดำเนินการตามหน้าที่ขอได้โปรดระวังอันตรายในสิ่งเหล่านี้ด้วย” คำกล่าวเช่นนี้ มิได้กล่าวยืนยันว่าโจทก์กระทำผิดมีอาวุธปืนเถื่อนหรือลูกระเบิดมือ เพียงแต่กล่าวอ้างว่าได้ทราบมาเช่นนั้นขอให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังอันตราย จึงไม่ใช่คำแจ้งความเท็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความร้องเรียนเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓, ๑๗๔
ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจโจทก์แล้ว โจทก์แถลงไม่มีพยานจะสืบในชั้นนี้อีก
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำร้องเรียนของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๓ ยังไม่ใช่คำแจ้งความเท็จดังโจทก์ฟ้อง คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์จึงฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
โจทก์ฎีกาในประการแรกว่าก่อนศาลจะมีคำสั่งคดีมีมูลหรือไม่ศาลจะต้องทำการไต่สวนพยานเสียก่อน การที่ศาลฟังแถลงแล้วไม่ทำการไต่สวนพยานเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การไต่สวนมูลฟ้องก็เพื่อให้ศาลได้ทราบข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มีมูลหรือไม่การที่โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางประการจนเป็นที่พอใจของโจทก์จนโจทก์ไม่ต้องการสืบพยาน เช่นนี้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายอย่างใด
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยแถลงกล่าวหาว่าโจทก์ตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ทำการขัดขวางและขัดคำสั่งของจำเลย ไม่ยอมให้พระภิกษุชิตเข้าไปดูแลและตรวจตราทรัพย์สมบัติของวัดโพธิ์ทอง ตามข้อความในเอกสาร จ.๓ เป็นเท็จทั้งสิ้นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จนั้นจำเลยต้องรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จแล้วไปแจ้งต่อพนักงาน ถ้าจำเลยเชื่อโดยมีเหตุผลอันควรเชื่อว่าเป็นความจริงเช่นนั้น การแจ้งนั้นก็หาเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จไม่ และข้อความใดจะเป็นความเท็จหรือความจริงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อความในเอกสาร จ.๓ ประกอบคำแถลงที่คู่ความรับกันมาแล้วว่า ข้อความที่จำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสาร จ.๓ กล่าวหาโจทก์ว่าโจทก์ตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ก็ดี ข้อที่หาว่าโจทก์ขัดขวางและขัดคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามหน้าที่ก็ดี ไม่ใช่ความเท็จดังโจทก์ฟ้อง ดังนั้น การที่โจทก์ฎีกาว่าข้อความที่จำเลยร้องเรียนดังกล่าวข้างต้นเป็นความเท็จ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อนี้
ส่วนที่โจทก์ฎีกามาด้วยว่า การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวนตามเอกสาร จ.๓ ว่า ได้ทราบข่าวเล่าลือและบอกเล่าว่าโจทก์มีอาวุธปืนเถื่อนและระเบิดมือเป็นการแจ้งความเท็จนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูหนังสือร้องเรียนฉบับนี้ (เอกสาร จ.๓) แล้ว ปรากฏว่าในหนังสือฉบับนี้จำเลยมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าได้มีการกระทำผิดเพราะใช้คำว่า “อนึ่ง ได้ทราบจากคำเล่าลือและคำบอกเล่าว่าพระภิกษุสุวรรณ์ จารุโภ มีอาวุธปืนเถื่อนและลูกระเบิดมือไว้ในความครอบครอง เมื่อเจ้าหน้าที่จะไปดำเนินการตามหน้าที่ ขอได้โปรดระวังอันตรายในสิ่งเหล่านี้ด้วย” คำกล่าวเช่นนี้หาได้ยืนยันกล่าวอ้างว่าโจทก์มีอาวุธปืนเถื่อนหรือลูกระเบิดมือไม่ เพราะเพียงแต่อ้างว่าได้ทราบมาเช่นนั้นขอให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังอันตรายต่างหาก จึงไม่ใช่คำแจ้งความเท็จ
ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์