คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกฟ้องว่าบุกรุกที่พิพาท ศาลลงโทษไปแล้ว การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาท ต่อมาหลังจากศาลพิพากษาคดีก่อนแล้ว แม้ต่อมาที่พิพาทจะเปลี่ยนมือเป็นของผู้อื่น จำเลยก็ยังไม่ได้ทำประการใดที่จะถือว่าเป็นกรรมใหม่ คงอยู่ในที่พิพาทต่อมาตามปกติ จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2518 จำเลยบุกรุกเข้าไปในนาของนายสมพงษ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365

จำเลยให้การว่า นายสมพงษ์มิใช่ผู้เสียหาย ทั้งความผิดอันเดียวกันนี้ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว เป็นฟ้องซ้ำ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือนปรับ 500 บาท โทษจำคุกรอไว้ 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การท่จำเลยครอบครองที่พิพาทนั้นถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองที่พิพาทแล้ว ไม่จำต้องประกอบด้วยการกระทำ “เข้าไป” พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 จนทุกวันนี้ไม่เคยมีกริยาเข้าไปในที่พิพาทเลย นายสมพงษ์ไม่เคยครอบครองที่พิพาท จึงไม่เป็นผู้เสียหาย

ศาลฎีกาฟังว่า เดิมที่พิพาทเป็นของนายพรม จำเลยเป็นบุตรเขยและอาศัยทำกินในที่พิพาทกับนายพรม ต่อมานายพรมขายที่พิพาทให้นายไกรศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2513 แต่ทั้งนายพรมและจำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาท ต่อมานายพรมตาย นายไกรศักดิ์แจ้งความเมื่อ พ.ศ. 2517 ว่าจำเลยบุกรุกที่พิพาท โจทก์ฟ้อง จำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2517 จำคุกและปรับแต่โทษจำคุกให้ยก ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2518 นายสมพงษ์ผู้เสียหายคดีนี้ซื้อที่พิพาทจากนายไกรศักดิ์ แล้วหาว่าจำเลยบุกรุก

วินิจฉัยว่า การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาหลังจากศาลพิพากษาคดีก่อนแล้ว แม้ต่อมาที่พิพาทจะเปลี่ยนมือเป็นของผู้อื่น จำเลยก็ยังไม่ได้ทำประการใดที่จะถือว่าเป็นกรรมใหม่ คงอยู่ในที่พิพาทต่อมาตามปกติ จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป

พิพากษากลับ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์

Share