แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 98 มีความหมาย 2 กรณี คือเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด กรณีแรก ถ้าผู้กระทำความผิดยังมิได้รับโทษ ซึ่งหมายถึงหลบหนีไปก่อนศาลมีคำพิพากษาลงโทษ หรือหลบหนีไปเมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษแล้วและยังไม่ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาเพื่อรับโทษ นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เกินกำหนดเวลาที่กำหนดไว้จะลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ กรณีที่สอง ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีไป ซึ่งหมายถึงหลบหนีไประหว่างต้องโทษและยังไม่ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาเพื่อรับโทษ นับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีเกินกำหนดเวลาที่กำหนดไว้จะลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปไม่มาฟังคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษาศาลฎีกา จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับโทษตามคำพิพากษา การนับระยะเวลาว่าจะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้หรือไม่ จึงต้องนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหา เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังวันที่ 24 เมษายน 2555 คดีจึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามาจึงไม่เกินห้าปีอันล่วงเลยการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 98 (4)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่า ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำคุก 3 เดือน คดีถึงที่สุด ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังผู้ถูกกล่าวหา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 และออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหา ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 เจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ถูกกล่าวหาได้นำตัวส่งศาลชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาแถลงว่าคดีของผู้ถูกกล่าวหาขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน อายุความที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับผิดคือภายในห้าปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 (4) ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 24 เมษายน 2555 ถือว่าคำพิพากษาถึงที่สุดในวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา นับถึงวันนี้ (4 พฤศจิกายน 2557) ยังไม่เกินห้าปีคดีจึงไม่เกินกำหนดเวลาการลงโทษ จึงให้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดชอบหรือไม่ ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 บัญญัติว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี… เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไม่ไปฟังคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษาศาลฎีกา อายุความจึงยังคงเดินอยู่ จึงต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีนับแต่วันที่ 8 เมษายน 2551 ที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อนับถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 จึงเกินกว่า 5 ปี แล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 บัญญัติว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณีเกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้… บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมาย 2 กรณี กล่าวคือ เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด กรณีแรก ถ้าผู้กระทำความผิดยังมิได้รับโทษซึ่งหมายถึงหลบหนีไปก่อนศาลมีคำพิพากษาลงโทษ หรือหลบหนีไปเมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษแล้วและยังไม่ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาเพื่อรับโทษ นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเกินกำหนดเวลาที่กำหนดไว้จะลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ และกรณีที่สอง ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีไปซึ่งหมายถึงหลบหนีไประหว่างต้องโทษและยังไม่ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี เกินกำหนดเวลาที่กำหนดไว้จะลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ คดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไม่มาฟังคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษาศาลฎีกา และเพิ่งได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับโทษตามคำพิพากษา การนับระยะเวลาว่าจะลงโทษผู้ถูกกกล่าวหาได้หรือไม่ จึงต้องนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหา เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังวันที่ 24 เมษายน 2555 คดีจึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามาจึงยังไม่เกินห้าปี อันจะล่วงเลยการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 (4) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน