แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้การระบุถึงวันที่สินค้าพิพาทจะถึงท่าเรือปลายทาง ระบุคำว่า อีทีเอ 24.11.10 ซึ่งหมายถึง กำหนดวันโดยประมาณที่เรือจะเดินทางไปถึงท่าเรือปลายทางวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ผู้ขนส่งไม่สามารถยืนยันวันส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือปลายทางหรือวันที่เรือเดินทางไปถึงท่าเรือปลายทางที่แน่นอนได้ แต่หากตัวแทนของจำเลยไม่ขนถ่ายสินค้าของโจทก์ลงเรือผิดลำ สินค้าของโจทก์ย่อมไปถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดวันที่ประมาณการไว้ เหตุที่สินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 มิใช่เหตุล่าช้าในการเดินเรือซึ่งตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นเพราะความบกพร่องและความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง กรณีจึงเป็นการส่งมอบที่ชักช้ากว่าระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะผู้ซื้อยกเลิกสัญญาซื้อขาย
การขนส่งสินค้าทางทะเล ผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางไปถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลาที่ตกลงกับผู้ส่งสินค้า การเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลลำหนึ่งไปบรรทุกลงเรือเดินทะเลอีกลำหนึ่งหรือกว่านั้น ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติเพื่อให้สินค้าถูกขนส่งไปถึงท่าเรือปลายทางโดยไม่เกิดความเสียหายและภายในกำหนดเวลาที่ประมาณการไว้ การขนถ่ายสินค้าลงเรือเดินทะเลผิดลำ จึงเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะสินค้าของโจทก์ถูกบรรจุภายในตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกับสินค้าของผู้อื่น เป็นเรื่องการจัดการผิดพลาด แม้จะมิได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ผู้ขนส่งสามารถนำสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ช้ากว่าเวลาที่ประมาณการไว้ 8 วัน จึงยังไม่พอฟังได้ว่า การส่งมอบชักช้าดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขนส่ง
การที่จำเลยไม่สามารถนำสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางได้ภายในเวลาที่ตกลงกัน ทำให้ผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ยกเลิกการซื้อขาย ปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้า ทำให้โจทก์เสียหายสิ้นเชิงเพราะสินค้าดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายให้แก่บุคคลได้ แต่เมื่อโจทก์ผู้ส่งสินค้าไม่ได้แจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบ ทั้งไม่ปรากฏผู้ขนส่งมีเจตนาจะให้เกิดการส่งมอบสินค้าล่าช้า หรือเป็นการละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ ความรับผิดของจำเลยในการส่งมอบชักช้า จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 วรรคสาม คือ รับผิดไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จำเลยทำไว้กับโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 910,351.66 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 862,892.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทเกทเวย์ คอนเทนเนอร์ไลน์ จำกัด และสายการเดินเรือโอเรียน โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ ไลน์ หรือสายการเดินเรือโอโอซีแอลเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต โดยเรียกบริษัทเกทเวย์ คอนเทนเนอร์ไลน์ จำกัด ว่า จำเลยร่วมที่ 1 และสายการเดินเรือโอเรียน โอเอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ ไลน์ หรือสายการเดินเรือโอโอซีแอล ว่า จำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นว่า ทีวีเอส เอสพีเอ ลูกค้าได้สั่งซื้อสินค้าประเภทแถบแม่เหล็กที่แสดงสูตรอาหารเป็นภาษาฝรั่งเศส จำนวน 67,650 ชิ้น มูลค่า 20,295 ยูโร คิดเป็นเงินไทย 862,892.66 บาท จากโจทก์ โดยให้โจทก์จัดส่งให้แก่ทีวีเอส เอสพีเอ ที่ประเทศอิตาลี ทีวีเอส เอสพีเอ ได้ชำระเงินมัดจำเพื่อการสั่งซื้อสินค้าให้แก่โจทก์จำนวน 10,147.50 ยูโร คิดเป็นเงินไทย 431,446.33 บาท เพื่อเป็นประกันการสั่งซื้อสินค้า โจทก์ว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี โจทก์ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่จำเลย และจำเลยได้ออกใบตราส่งให้แก่โจทก์ โดยในใบตราส่งได้ระบุถึงรายการสินค้า ชื่อเรือที่ใช้ในการขนส่งอันได้แก่เรือ YANTRA BHUM และเรือ APL HAMBURG โดยระบุถึงท่าเรือปลายทางคือ ท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี จำเลยได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าพิพาทไปยังท่าเรือปลายทาง เรือ APL HAMBURG เดินทางถึงท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี แต่ไม่มีสินค้าพิพาทถูกขนส่งโดยเรือดังกล่าว ทีวีเอส เอสพีเอ ขอเลิกสัญญาซื้อขายและเรียกให้โจทก์คืนเงินมัดจำ ต่อมาสินค้าพิพาทถูกบรรทุกบนเรือ LOS ANGELES EXPRESS เดินทางถึงท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ทีวีเอส เอสพีเอ ผู้รับตราส่งปฏิเสธไม่ยอมรับของ โจทก์คืนเงินมัดจำค่าซื้อสินค้าพิพาทให้แก่ทีวีเอส เอสพีเอ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า การขนส่งสินค้าพิพาทไปถึงท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ชักช้ากว่าที่ได้ตกลงกันทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามสัญญาว่าจ้างขนส่งสินค้าที่ทำขึ้นระหว่างกัน จำเลยมีหน้าที่จะต้องขนส่งสินค้าพิพาทไปถึงท่าเรือปลายทางเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เมื่อสินค้าพิพาทไปถึงท่าเรือปลายทางในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่ตกลงกันไว้ถึง 1 สัปดาห์ อันเป็นผลมาจากการส่งลงเรือผิดลำซึ่งเป็นกระทำของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสอง ซึ่งเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า มีการขนถ่ายสินค้าจากเรือ YANTRA BHUM ลงเรือ APL HAMBURG ที่ท่าเรือประเทศสิงคโปร์และโจทก์มีนางวงเดือนเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นว่า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 สินค้าของโจทก์ยังไม่ถูกขนส่งไปถึงท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี เนื่องจากทีวีเอส เอสพีเอ ลูกค้าของโจทก์ติดต่อสอบถามมาว่าเหตุใดสินค้ายังไม่ส่งถึงท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 โจทก์จึงสอบถามไปยังตัวแทนที่ปลายทางของผู้ขนส่ง ได้รับแจ้งว่าภายในเรือ APL HAMBURG ที่เดินทางมาจากท่าเรือประเทศสิงคโปร์ไม่มีสินค้าของทีวีเอส เอสพีเอ ลูกค้าของโจทก์บรรทุกมาด้วย พยานได้โทรศัพท์สอบถามไปยังนางสาวรัชพรพนักงานของจำเลย นางสาวรัชพรขอเวลาตรวจสอบ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 นางสาวรัชพรโทรศัพท์แจ้งว่าสินค้าของโจทก์ไม่ได้ถูก ขนถ่ายลงเรือ APL HAMBURG ตามที่ระบุไว้ และภายหลังทราบว่ามีการนำสินค้าของโจทก์ลงเรือ LOS ANGELES EXPRESS ซึ่งเป็นการบรรทุกลงเรือผิดลำตามสำเนาไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวและรับว่าสินค้าของโจทก์ถูกส่งถึงท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่า หากตัวแทนของจำเลยไม่ขนถ่ายสินค้าของโจทก์ลงเรือผิดลำ สินค้าของโจทก์ย่อมไปถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดวันที่ประมาณการไว้ เหตุที่สินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 อันมิใช่เหตุล่าช้าในการเดินเรือซึ่งตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นเพราะความบกพร่องและความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง กรณีย่อมถือได้ว่าสัญญาขนส่งของทางทะเลได้กำหนดเวลาส่งมอบไว้แก่ผู้ส่งของ แต่ผู้ขนส่งไม่ส่งมอบของภายในกำหนดเวลานั้น จึงเป็นการส่งมอบที่ชักช้ากว่าระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะผู้ซื้อยกเลิกสัญญาซื้อขาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ ก่อนจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทหรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานหลักฐานกันมาจนครบถ้วนแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน ปัญหานี้ได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนางสาววริสราพยานโจทก์ว่า หนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของจำเลยระบุว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบการขนส่ง ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ในหน้าเว็บไซต์ของจำเลยเพื่อการประชาสัมพันธ์ ตามสำเนาหนังสือรับรอง ภาพถ่ายหน้าเว็บไซต์จำเลย จำเลยแสดงต่อโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่ง ไม่เคยแจ้งข้อมูลของผู้ขนส่งช่วงและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้โจทก์ทราบและจำเลยเป็นผู้ออกเอกสารต่าง ๆ เช่น ใบแจ้งรายละเอียดการขนส่งสินค้า (shipping details) สำเนาใบตราส่ง ก่อนหน้านั้นโจทก์เคยจ้างให้จำเลยขนส่งสินค้าหลายครั้งแล้ว ทุกครั้งจำเลยแสดงตนเป็นผู้ขนส่งและรับมอบค่าจ้างจากโจทก์ ส่วนจำเลยนั้นตามคำเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนางชุติมา ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ พยานจำเลยว่า จำเลยไม่เคยออกใบตราส่ง ผู้ที่ออกใบตราส่งคือออลเวิร์ด ชิปปิ้ง โจทก์ได้มอบให้จำเลยจองระวางเรือเดินทะเลและนำสินค้าพิพาทไปส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือกรุงเทพเพื่อส่งให้แก่ผู้ซื้อปลายทางประเทศอิตาลี จำเลยจึงไปติดต่อจองระวางเรือกับจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งได้มอบหมายให้จำเลยร่วมที่ 2 ผู้ให้บริการสายการเดินเรือเป็นผู้ขนส่ง จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมทั้งสองเป็นผู้ขนส่ง เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามพฤติการณ์ที่ปรากฏนั้น จำเลยเป็นผู้ทำความตกลงกับโจทก์ในเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขในการขนส่ง ระยะเวลาในการขนส่ง รวมถึงค่าระวางในการขนส่ง โดยมิได้มีลักษณะเป็นการกระทำการเป็นตัวแทนของโจทก์ในการจองระวางเรือ หรือเป็นตัวแทนของผู้ให้บริการเรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่ง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ค่าตอบแทนจากโจทก์หรือจากผู้ให้บริการเรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าพิพาทในลักษณะที่เป็นส่วนต่างจากค่าระวางที่ผู้ให้บริการเรือจะได้รับ แต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าจำเลยไม่ได้รับเงินค่าระวาง โดยไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเงินที่จำเลยได้รับจากโจทก์นั้น จำเลยจะต้องส่งมอบให้แก่ผู้ใดซึ่งเป็นผู้ขนส่งที่แท้จริง การที่จำเลยออกใบตราส่งสินค้าพิพาท ซึ่งครอบคลุมท่าเรือต้นทางและปลายทาง มีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าพิพาทส่วนใหญ่ตรงกันกับสำเนาใบแจ้งรายละเอียดการขนส่งสินค้า (shipping details) ที่จำเลยทำขึ้น แม้จะระบุว่า เป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของออลเวิร์ด ชิปปิ้ง แต่เอกสารดังกล่าวจำเลยก็เป็นผู้ทำขึ้นเองจึงอยู่ในความรับรู้ของจำเลยผู้เดียว และจำเลยก็ไม่แสดงให้ปรากฏว่า ออลเวิร์ด ชิปปิ้ง นั้นคือใครและมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยและได้เคยใช้บริการกับจำเลยมาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ไม่เคยได้รับทราบว่าจำเลยเป็นตัวแทนของใคร การดำเนินการของจำเลยยังขัดกับข้ออ้างว่าจำเลยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของโจทก์ในการติดต่อจองระวางเรือ ที่จะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ขนส่งซึ่งทำหน้าที่รับขนสินค้าให้โจทก์ผู้ส่งทราบว่าเป็นผู้ใดอีกด้วย แม้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทนั้นจำเลยจะมิได้ทำการขนส่งด้วยตนเองเพียงลำพังแต่ได้มอบหมายให้จำเลยร่วมทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการขนส่งต่อจากจำเลยก็ตาม ซึ่งการเป็นผู้ขนส่งไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำด้วยตนเอง โดยอาจมอบหมายให้บุคคลอื่นทำการขนส่งแทนก็ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายอันเนื่องมาจากการขนส่งสินค้าพิพาทชักช้า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 20,298 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทย 862,892.66 บาท อันเป็นมูลค่าเต็มของสินค้าพิพาทนั้น โดยอ้างว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ละเลยไม่เอาใจใส่ทำให้มีการส่งสินค้าพิพาทลงเรือผิดลำจนเกิดความล่าช้าในการขนส่ง เห็นว่า การขนส่งสินค้าทางทะเล ผู้ขนส่งมีหน้าที่จัดการขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางไปถึงท่าเรือปลายทางตามกำหนดเวลาที่ตกลงกับผู้ส่งสินค้า การเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลลำหนึ่งไปบรรทุกลงเรือเดินทะเลอีกลำหนึ่งหรือกว่านั้น ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เพื่อให้สินค้าถูกขนส่งไปถึงท่าเรือปลายทางโดยไม่เกิดความเสียหาย และภายในกำหนดเวลาที่ประมาณการไว้ การขนถ่ายสินค้าลงเรือเดินทะเลผิดลำ จึงเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะสินค้าของโจทก์ถูกบรรจุภายในตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกับสินค้าของผู้อื่น เป็นเรื่องการจัดการผิดพลาด แม้จะมิได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ผู้ขนส่งสามารถนำสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ชักช้ากว่าเวลาที่ประมาณการไว้ 8 วัน จึงยังไม่พอฟังได้ว่า การส่งมอบชักช้าดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขนส่ง การที่จำเลยไม่สามารถนำสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ได้ภายในเวลาที่ตกลงกันทำให้ผู้ซื้อสินค้าของโจทก์ยกเลิกการซื้อขาย ปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้า ทำให้โจทก์เสียหายสิ้นเชิง เพราะสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แถบแม่เหล็กที่แสดงสูตรอาหารเป็นภาษาฝรั่งเศสไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายให้แก่บุคคลใดได้ แต่เมื่อโจทก์ผู้ส่งสินค้าไม่ได้แจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและยอมรับโดยแสดงราคาสินค้านั้นไว้ในใบตราส่ง ทั้งไม่ปรากฏว่าการส่งสินค้าของโจทก์ลงเรือผิดลำนั้น ผู้ขนส่งมีเจตนาจะให้เกิดการส่งมอบสินค้าล่าช้า หรือเป็นการละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ ความรับผิดของจำเลยในการส่งมอบชักช้า จึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 58 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 คือ รับผิดไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏแน่ชัดว่า ค่าระวางสินค้าทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้เป็นเงินจำนวนเท่าใด และข้อเท็จจริงได้ความว่าการขนส่งสินค้าตามที่พิพาทกันคดีนี้ จำเลยยังมิได้เรียกเก็บเงินค่าระวางจากโจทก์ เมื่อจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเท่ากับค่าระวางของสินค้าทั้งหมด จึงเห็นสมควรให้ค่าระวางสินค้าพิพาทที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเอาแก่โจทก์เป็นอันพับกันไปกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของสินค้าที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ