คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จ. เป็นสามี ล. มีบุตรด้วยกัน 6 คน รวมทั้งผู้ร้องทั้งสามด้วยเมื่อ ล. ตายแล้ว จ. จดทะเบียนสมรสกับ ฉ. ไม่มีบุตรด้วยกันแต่ ฉ. ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นน้องร่วมบิดาของ ฉ. ต่อมา ฉ. ตายไปโดยมิได้ทำพินัยกรรม และบิดามารดาของ ฉ. ก็ตายไปก่อนแล้วศาลตั้งให้ จ. เป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. แต่จัดการมรดกยังไม่ทันเสร็จ จ. ก็ตายไป ก่อนตาย จ. ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องทั้งสามกับพี่น้องแม้ผู้ร้องทั้งสามไม่ใช่ทายาทของ ฉ.ผู้ร้องทั้งสามก็มีส่วนได้รับทรัพย์ที่ จ. จะได้รับแบ่งจากกองมรดกของ ฉ.ในฐานะคู่สมรสทรัพย์สินต่างๆในกองมรดกของฉ.ยังมิได้แบ่งแยก คงบริคณห์ปนกันอยู่กับทรัพย์สินส่วนของ จ. เมื่อผู้ร้องทั้งสามเป็นทายาทและผู้รับพินัยกรรมของ จ. ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของ ฉ. จึงมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาทอันดับ 1 มีสิทธิได้รับมรดกของ ฉ. ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นทายาทลำดับ 4 ของ ฉ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแม้จะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหลายโฉนดร่วมกัน ฉ. ก็ไม่ใช่ส่วนได้เสียโดยตรงในกองมรดก เมื่อมีผู้อื่นที่สมควรกว่าเป็นผู้จัดการมรดกได้ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ก็ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่างขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. และมีคดีพิพาทกันอยู่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ฉ. ฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกฝ่ายเดียวอาจทำความเสียหายแก่กองมรดกและอีกฝ่ายหนึ่งได้ศาลย่อมตั้งให้ผู้ร้องทั้งสามกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ.ร่วมกัน

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นบุตรของพันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ ซึ่งเกิดแต่นางเลื่อน บุญยะประภูติภริยาเดิม พันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ กับนางเลื่อน บุญยะประภูติ เป็นสามีภริยากันเมื่อ พ.ศ. 2465 นางเลื่อน บุญยะประภูติ วายชนม์เมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2486 พันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ จดทะเบียนสมรสกับนางแฉล้ม บุญยะประภูติ ไม่มีบุตรด้วยกัน นางแฉล้ม บุญยะประภูติ วายชนม์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2512 ส่วนบิดามารดาของนางแฉล้ม บุญยะประภูติ วายชนม์ไปก่อนนานแล้ว พันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนางแฉล้ม บุญยะประภูติ และศาลแพ่งได้มีคำสั่งลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2513 ให้เป็นผู้จัดการมรดกตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 4495/2513 ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2513 พันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ ได้วายชนม์ในขณะที่ยังจัดการมรดกไม่เสร็จสิ้น และไม่มีผู้จัดการมรดกอื่นจัดการต่อไป ผู้ร้องทั้งสามมีฐานะเป็นทายาทโดยเป็นผู้รับมรดกที่พันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ และมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมของพันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ ซึ่งได้ทำไว้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2513 ยกทรัพย์เฉพาะส่วนให้แก่นางจินดา คล้ายอินทร์ และร้อยตำรวจเอกธานี บุญยะประภูติ ทรัพย์สินนอกนั้นยกให้ผู้ร้องทั้งสามรับคนละส่วนเท่านั้น ทรัพย์สินที่จะได้รับตามพินัยกรรมก็คือสินเดิมและสินบริคณห์ส่วนของพันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ กับนางแฉล้ม บุญยะประภูติ ซึ่งยังไม่ได้แบ่งแยก ก่อนวายชนม์นางแฉล้ม บุญยะประภูติ ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้ร้องทั้งสามไม่สามารถจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของนางแฉล้ม บุญยะประภูติ เป็นของผู้รับมรดกได้และมีความจำเป็นต้องดำเนินคดีเพื่อสงวนรักษาสิทธิและทรัพย์สินกองมรดกของนางแฉล้ม บุญยะประภูติ ซึ่งผู้จัดการคนเดิมได้ดำเนินอยู่แล้ว ผู้ร้องทั้งสามมิใช่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถและมิใช่เป็นบุคคลล้มละลาย ขอศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม บุญยะประภูติ

ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของนางแฉล้ม บุญยะประภูติโดยนางแฉล้ม ได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมไว้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2494 ผู้ร้องคัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกับนางแฉล้ม บุญยะประภูติ แต่ต่างมารดากัน พันตำรวจเอก(พิเศษ) เจริญ บุญยะประภูติ ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ ผู้ร้องไม่ทราบและไม่รับรองผู้ร้องทั้งสามไม่ใช่ทายาทในกองมรดกโดยตรง ไม่เคยเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินกองมรดก จึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกและทรัพย์สินอันเป็นกองมรดกของนางแฉล้ม บุญยะประภูติ ส่วนมากเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องคัดค้านถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางแฉล้ม บุญยะประภูติผู้ร้องคัดค้านที่ 1 เป็นทายาทของนางแฉล้ม บุญยะประภูติ และมอบอำนาจให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ดำเนินคดีแทน ผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ในทรัพย์สินของนางแฉล้ม บุญยะประภูติ ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย ขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม และให้ให้ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้มบุญยะประภูติ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาตั้งให้ผู้ร้องทั้งสามกับผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม บุญยะประภูติ ผู้วายชนม์ ส่วนคำขอของผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ที่ 3 ให้เป็นพับ

ผู้ร้องคัดค้านทั้งสาม อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องทั้งสามไม่ใช่ทายาทของนางแฉล้ม เพราะผู้ร้องทั้งสามเป็นบุตรของพันตำรวจเอก(พิเศษ) เจริญ และนางเลื่อน พันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญกับนางแฉล้มเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีบุตรด้วยกัน ผู้ร้องทั้งสามมีส่วนได้รับทรัพย์ที่พันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญจะได้รับแบ่งจากกองมรดกของนางแฉล้มในฐานะคู่สมรส ทรัพย์สินต่าง ๆ ในกองมรดกของนางแฉล้มยังมิได้แบ่งแยก คงบริคณห์ปนกันอยู่กับทรัพย์ส่วนของพันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ เมื่อผู้ร้องทั้งสามเป็นทายาทและผู้รับพินัยกรรมของพันตำรวจเอก (พิเศษ) เจริญ ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของนางแฉล้ม จึงมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ส่วนผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ที่ 3 เป็นน้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากับนางแฉล้มจึงเป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ลำดับ 4 ส่วนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนางแฉล้ม ย่อมถือว่าเป็นทายาทลำดับ 1 มีสิทธิได้รับมรดกของนางแฉล้ม แต่ผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ที่ 3 ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนางแฉล้ม ถึงแม้ว่าผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ที่ 3 จะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหลายโฉนดร่วมกับนางแฉล้ม แต่ก็ไม่ใช่ส่วนได้เสียโดยตรงในกองมรดก เมื่อมีผู้อื่นที่สมควรกว่าเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ที่ 3 จึงไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม

ส่วนผู้ร้องทั้งสามและผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ซึ่งต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในกองมรดกสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม ร่วมกันหรือไม่นั้น เห็นว่าทั้งผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้านมีคดีพิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนางแฉล้มอยู่ การจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกแต่ฝ่ายเดียว อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้ จึงสมควรให้ผู้ร้องทั้งสามและผู้ร้องคัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้มร่วมกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องคัดค้านฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามร่วมกันเสียค่าทนายความชั้นฎีกา 100 บาท แทนผู้ร้องทั้งสาม

Share