คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิม โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ เมื่อศาลพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตาม คำพิพากษา ได้ มีการยึดรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้ ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โดย อ้าง ว่าได้ ซื้อ จากจำเลยที่ 1 และในการนำสืบ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ ติดต่อ ขายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่าได้ มีการซื้อ ขายรถยนต์บรรทุกกันจริงในราคา 100,000 บาท ผลสุดท้ายศาลฎีกาได้ ยก คำร้อง โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ใหม่เพื่อเอาเงินชำระหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ รีบฟ้องให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ตาม สัญญา เงินกู้ อ้างว่ากู้กันแต่ ปี พ.ศ. 2525 โดย ฟ้องวันที่ 2 มกราคม 2530 ได้ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมในวันที่ 8 เดือน เดียว กัน ต่อมาจำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดส่อให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำทุกอย่างเพื่อมิให้โจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าหนี้ได้ รับชำระหนี้ เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ตาม ฟ้อง พฤติการณ์เช่นนี้ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 จำคุกคนละ 2 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2525 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และในวันที่ 11 สิงหาคม 2525 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล และศาลพิพากษาตามยอม ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 216/2525 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ได้บังคับคดีให้เจ้าพนักงานยึดรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2526 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2526 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสิงห์บุรีวัฒนกิจ ผู้ร้องได้ร้องขอให้ปล่อยรถยนต์คันดังกล่าว โดยอ้างว่าผู้ร้องได้ซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ในการพิจารณาคดีจำเลยที่ 2 ได้มาเป็นพยานผู้ร้องและเบิกความเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2526 ว่า ได้เป็นผู้ช่วยติดต่อขายรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ให้ผู้ร้องในราคา 100,000 บาท และจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขาย นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเบิกความตอนตอบทนายโจทก์ค้านว่า จำเลยที่ 1 เคยยืมเงินจำเลยที่ 2 เล็กน้อยและได้คืนเงินให้จำเลยที่ 2 แล้ว ผลที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องและได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 3 ธันวาคม 2529 โจทก์จึงขอให้ขายทอดตลาดรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ต่อไป และกำหนดขายทอดตลาดในวันที่ 7 มกราคม 2530 แต่ในวันที่ 2 มกราคม 2530 จำเลยที่ 2ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน120,254.16 บาท ตามสัญญากู้เงินลงวันที่ 20 มีนาคม 2525 และในวันที่ 8 มกราคม 2530 จำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล ศาลได้พิพากษาตามยอม ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1/2530ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี และในวันที่ 16 มกราคม 2530 จำเลยที่ 2ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 216/2525
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยที่ว่าพยานโจทก์เพียงแต่เข้าใจเอาว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันทำหลักฐานเท็จโดยแกล้งให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 2 ยังไม่พอจะฟังว่าจำเลยทำผิด ส่วนพยานจำเลยมีทั้งพยานบุคคลและเอกสารแสดงว่าเป็นหนี้กันจริง และจำเลยที่ 2 มีฐานะดีขึ้น ข้อนี้แม้โจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานรู้เห็นว่าจำเลยทั้งสองคบคิดกันทำหลักฐานเท็จเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่โจทก์ก็มีพยานแวดล้อมที่แสดงพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสอง ตั้งแต่เริ่มต้นที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ เมื่อศาลพิพากษา แล้วจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษา ได้มีการยึดรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสิงห์บุรีวัฒนกิจได้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โดยอ้างว่าได้ซื้อจากจำเลยที่ 1 และในการนำสืบปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ติดต่อขายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสิงห์บุรีวัฒนกิจจำเลยที่2 เป็นพยานเบิกความว่าได้มีการซื้อขายรถยนต์บรรทุกกันจริงในราคา100,000 บาท ผลสุดท้ายศาลฎีกาได้ยกคำร้อง โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ใหม่ เพื่อเอาเงินชำระหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้รีบฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้อ้างว่ากู้กันแต่ปี พ.ศ. 2525 โดยฟ้องวันที่ 2 มกราคม 2530 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมในวันที่ 8เดือนเดียวกัน ต่อมาจำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดส่อให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำทุกอย่างเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ แม้จำเลยจะมีพยานบุคคลเบิกความยืนยันว่าเป็นหนี้กันจริง และมีพยานเอกสารที่ฝ่ายจำเลยทำขึ้นเองมาสนับสนุนแต่ปรากฏจากคำเบิกความของตัวจำเลยที่ 2ในคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสิงห์บุรีวัฒนกิจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดว่า จำเลยที่ 1 เคยยืมเงินจำเลยที่ 2 เล็กน้อยและได้คืนให้หมดแล้ว ขณะเบิกความเป็นเวลาหลังจากที่อ้างว่าทำสัญญากู้ และตามสัญญากู้เป็นหนี้กันถึง 70,000 บาท คำเบิกความของจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวขัดกับเอกสารที่จำเลยนำสืบในคดีนี้ ที่จำเลยที่ 2พยายามแสดงหลักฐานว่ามีฐานะดี ก็มิได้ชี้ว่าจำเลยมิได้กระทำผิดพยานหลักฐานของจำเลยไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองกระทำชี้ชัดว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง
ฎีกาข้อสุดท้ายว่าควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองหรือไม่เห็นว่า โจทก์ฟ้อง และศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดแต่ปี พ.ศ.2525 เมื่อยึดทรัพย์ได้มีการเรียกขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โดยจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องด้วย โจทก์ต้องดำเนินคดีแก่ผู้ร้องเมื่อคดีถึงที่สุดโดยโจทก์ชนะ จำเลยทั้งสองกลับมาฟ้องกันเอง และตกลงยอมความให้ศาลพิพากษาตามยอม แล้วขอเฉลี่ยทรัพย์อีก จนถึงขณะนี้โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง…”
พิพากษายืน.

Share