คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าขายสินค้าของจำเลยที่ 1ให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองโดยไม่มีอำนาจและมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ได้จัดให้มีการเขียนวันที่สั่งจ่ายลงในเช็คนั้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้รับชำระหนี้อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1ที่ได้จดทะเบียนไว้และเพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น จึงเป็นการร่วมกันทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยการเติมข้อความในเอกสารสิทธิและตั๋วเงินที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงที่โจทก์ทำขึ้น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและตั๋วเงิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,264,265,266(4) เมื่อจำเลยทั้งสองนำเช็คปลอมไปเข้าบัญชีเพื่อเรียก เก็บเงิน จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิและตั๋วเงินปลอม ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,264 จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เบิกความต่อศาล ในคดีอาญาว่าโจทก์ไม่ใช่พนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ซื้อสินค้าไปจากจำเลยที่ 1 แล้วสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าสินค้าโดยเช็คดังกล่าวได้เขียนรายการครบถ้วน ซึ่งความจริงแล้วปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1ได้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายให้จำเลยทั้งสองไว้ เพื่อเป็นประกันหนี้ ไม่ใช่เพื่อชำระหนี้ และวันที่สั่งจ่ายในเช็คถือเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากผู้สั่งจ่ายไม่ลงวันที่สั่งจ่าย ก็ถือว่าไม่ได้ระบุวันในการกระทำผิดผู้สั่งจ่ายเช็คไม่อาจมีความผิดได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงแม้จะเป็นนิติบุคคล แต่การที่จำเลยที่ 2เลิกความดังกล่าวเป็นการเบิกความแทนจำเลยที่ 1ด้วย ทั้งนี้ สังเกต ได้จากการที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2มอบอำนาจให้ ศ. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจนมีการดำเนินคดีแก่โจทก์ทางอาญา และพนักงานอัยการฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คการที่จำเลยที่ 2 เบิกความในคดีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 แม้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเบิกความไว้ แต่นิติบุคคลอาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลได้ ดังนั้น ผู้จัดการของนิติบุคคลย่อมต้องเบิกความต่อศาล และถือได้ว่าเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์ขอนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความแทนจำเลยที่ 1 เป็นเท็จ ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2523เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่15081/2522 ของศาลชั้นต้น ว่าบริษัทผู้เสียหายได้รับเช็คจากโจทก์เป็นค่าเครื่องไฟฟ้า โจทก์ไม่ใช่พนักงานของบริษัทและเช็คที่รับมามีวันที่สั่งจ่ายเรียบร้อยแล้วเป็นข้อสำคัญในคดีเพราะหากเช็คดังกล่าวสั่งจ่ายเพื่อเป็นประกันหนี้หรือไม่มีวันที่สั่งจ่ายโจทก์ก็ไม่มีความผิดทางอาญา ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่เกิดการกระทำนั้น ๆ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)และครบองค์ประกอบตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177แล้ว คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177, 264, 266, 268, 83, 84, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง จำคุก 1 ปีสำหรับข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คเอกสารหมาย จ.2 โจทก์บอกให้จำเลยทั้งสองไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์จะพึงมีต่อจำเลย เมื่อเช็คดังกล่าวเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าขายสินค้าของจำเลยที่ 1ให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองโดยไม่มีอำนาจและมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ได้จัดให้มีการเขียนวันที่สั่งจ่ายลงในเช็คนั้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้รับชำระหนี้อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 และเพื่อให้จำเลยที่ 1ได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น จึงเป็นการร่วมกันทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยการเติมข้อความในเอกสารสิทธิและตั๋วเงินที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงที่โจทก์ทำขึ้น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 265, 266(4)เมื่อจำเลยทั้งสองนำเช็คปลอมไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิและตั๋วเงินปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 268
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2523 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2ในฐานะส่วนตัวและในฐานกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1ได้เบิกความต่อศาลอาญาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 15081/2522หมายเลขแดงที่ 5077/2526 ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการโจทก์ นายกมล ตั้งเถลิงเกียรติ จำเลย ว่า โจทก์ไม่ใช่พนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ซื้อสินค้าไปจากจำเลยที่ 1แล้วสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.2 เพื่อชำระค่าสินค้าโดยเช็คดังกล่าวไว้เขียนรายการครบถ้วน ซึ่งความจริงแล้วปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายให้จำเลยทั้งสองไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ ไม่ใช่เพื่อชำระหนี้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสองสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงแม้จะเป็นนิติบุคคล แต่การที่จำเลยที่ 2เลิกความดังกล่าวเป็นการเบิกความแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนี้สังเกตได้จากการที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายศิริชัย สุวรรณเทวรัตน์ ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จนมีการดำเนินคดีแก่โจทก์ทางอาญาและพนักงานอัยการ กรมอัยการฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจะเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 เบิกความในคดีดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 แม้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเบิกความไว้ แต่นิติบุคคลอาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในกิจการตามวัตถุประสงค์ขอนิติบุคคลได้ ดังนั้นผู้จัดการของนิติบุคคลย่อมต้องเบิกความต่อศาล และถือได้ว่าเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความแทนจำเลยที่ 1 เป็นเท็จ ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วยจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค สาระสำคัญอยู่ที่ผู้สั่งจ่ายเช็คมีเจตนาที่จะใช้เงินตามเช็คหรือไม่ ดังนั้น วันที่ลงในเช็คจึงไม่ใช้ข้อสำคัญการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดนั้น เห็นว่า หากผู้สั่งจ่ายไม่ลงวันที่สั่งจ่าย ก็ถือว่าไม่ได้ระบุวันในการกระทำผิดผู้สั่งจ่ายเช็คไม่อาจมีความผิดได้ ดังนั้น วันที่สั่งจ่ายในเช็คจึงเป็นข้อสำคัญจำเลยที่ 2 ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า คำฟ้องโจทก์ข้อหาเบิกความเท็จเคลือบคลุมเพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2523 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 15081/2522 ของศาลชั้นต้น ว่า บริษัทผู้เสียหายได้รับเช็คจากนายกมล(โจทก์) เป็นค่าเครื่องไฟฟ้า จำเลย (โจทก์) ไม่ใช่พนักงานของบริษัท และเช็คเอกสารหมาย จ.2 ที่รับมามีวันที่เรียบร้อยแล้วข้อความที่ว่าได้รับเช็คมาโดยโจทก์สั่งจ่ายให้เพื่อชำระหนี้และมีวันที่สั่งจ่ายเรียบร้อยแล้วเป็นข้อสำคัญในคดีเพราะหากเช็คดังกล่าวสั่งจ่ายเพื่อเป็นประกันหนี้หรือไม่มีวันที่สั่งจ่าย โจทก์ก็ไม่มีความผิดทางอาญา ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่เกิดการกระทำนั้น ๆ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) และครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 แล้ว คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า สภาพความผิดไม่ร้ายแรง จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพมีที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง มีภรรยาและบุตรอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยกระทำความผิดมาก่อนสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีโดยการวางโทษให้เหมาะสมและรอการลงโทษให้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 177 วรรคสอง, 264, 265, 266, 268 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 ฐานเบิกความเท็จตามมาตรา 177 วรรคสอง จำนวน 3,000 บาท ฐานปลอมเอกสารสิทธิและตั๋วเงินและใช้เอกสารปลอม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา 268ประกอบด้วยมาตรา 266 ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาทจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 264, 265, 266, 268 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม มาตรา 90 ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 266 ให้จำคุกจำเลยที่ 2ไว้ 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเบิกความเท็จตามมาตรา 177 วรรคสอง จำคุก 1 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน23,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ได้ 2 ปี และปรับ 20,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา 29, 30

Share