คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแล้วไม่รื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ต่อมาจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ในขณะที่อยู่ระหว่างการใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479ซึ่งตามมาตรา 11 ทวิ โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ผู้ปลูกสร้างอาคารตามมาตรา11 รื้อถอนอาคารพิพาทได้แม้ต่อมากฎหมายนี้จะถูกยกเลิกและใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แทนซึ่งมาตรา 40 ประกอบด้วยมาตรา 42 ให้อำนาจโจทก์สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนอาคารนั้นได้ก็จะนำมาใช้กับจำเลยที่ 1 อันเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังที่มีผลเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารพิพาทไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๒ ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ปลูกสร้างตึกแถวห้าชั้นและสี่ชั้นบนที่ดินของจำเลยที่ ๒ ตามแบบแปลนซึ่งจะต้องเว้นช่องว่างเป็นทางเดินหลังตึกแถวกว้าง ๒ เมตร ยาวตลอดแนวตึกแถวโดยปราศจากสิ่งปกคลุม จำเลยที่ ๒ ได้ปลูกสร้างตึกแถวผิดไปจากแบบแปลนที่โจทก์อนุญาตคือต่อเติมอาคารปกคลุมทางเดินหลังตึกแถวห้าชั้นโดยเฉพาะเลขที่ ๒๘๑/๔ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๑๑ ทวิซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ กฎกระทรวงฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๑๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ข้อ ๕, ๗ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๗๖(๑) ที่ว่าอาคารที่พักอาศัยแต่ละหลังให้มีที่ว่างสามสิบในร้อยส่วนของพื้นที่ และข้อ ๗๖(๔) ที่ว่า อาคารพาณิชย์จะต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินด้านหลังอาคารได้ถึงกันกว้างไม่น้อยกว่า ๒ เมตร วันที่๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบการกระทำดังกล่าว หัวหน้าเขตบางรักปฏิบัติราชการแทนโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๒รื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างเชื่อมต่อจากอาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างออกไป จำเลยที่ ๒เพิกเฉยวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๑ หัวหน้าเขตบางรักได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจำเลยที่ ๒ รับสารภาพและถูกเปรียบเทียบปรับแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๑จำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ ๒๘๑/๔ จากจำเลยที่ ๒ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างเชื่อมต่อกับตึกแถวเลขที่ ๒๘๑/๔ ออก จำเลยที่ ๑ เพิกเฉยและมิได้อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมออกไปจากตึกแถวเลขที่ ๒๘๑/๔ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนเองได้ตามมาตรา ๔๐, ๔๑, ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามกฎหมายเก่าซึ่งโจทก์ได้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๒ ไปแล้ว จำเลยที่ ๑ มิได้ก่อสร้างต่อเติมและดัดแปลงอาคารตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ ๑ ซื้ออาคารมาจากจำเลยที่ ๒ในขณะที่อาคารได้เสร็จเรียบร้อยแล้วในสภาพที่โจทก์อ้างว่าผิดกฎหมายอาคารของจำเลยที่ ๑ มั่นคงแข็งแรง ไม่มีลักษณะที่อาจจะเป็นภยันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ชีวิตทรัพย์สิน ไม่มีลักษณะที่อาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งไม่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งรื้ออาคารของจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ ๒ รื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมเพราะโจทก์อนุญาตให้ปลูกสร้างโดยโจทก์เองเป็นฝ่ายสำคัญผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนอาคารที่ต่อเติมออกจากตึกแถวเลขที่๒๘๑/๔ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยที่ ๑ เสียค่าใช้จ่ายยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะจำเลยที่ ๒ โอนอาคารพิพาทให้จำเลยที่ ๑ นั้นอยู่ระหว่างการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙กฎหมายฉบับนี้ตามมาตรา ๑๑ ทิว ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่ใช่ผู้ปลูกสร้างอาคารตามมาตรา ๑๑ ที่แก้ไขแล้วรื้อถอนอาคารพิพาทได้ แม้ต่อมากฎหมายนี้จะถูกยกเลิกและใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แทน ซึ่งกฎหมายนี้ตามมาตรา ๔๐ ประกอบด้วยมาตรา ๔๒ จะให้อำนาจโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนอาคารนั้นได้ ก็จะนำมาใช้กับจำเลยที่ ๑ อันเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังที่มีผลเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งมิได้เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารพิพาทไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนอาคารตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เสียด้วย

Share