คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2484

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไปหลอกลวงว่าทางราชการเรี่ยไรเงิน แล้วออกใบรับเงินในตำแหน่งเสมียนตราและเซ็นชื่ออื่นแม้ไม่ใช่ชื่อของเจ้าพนักงานคนใด ก็เป็นผิดฐานปลอมหนังสือ
ใบรับเงินเรี่ยไรปลอมซึ่งแสดงว่าทางราชการออกให้นั้นเป็นหนังสือราชการ แต่ไม่ใช่หนังสือสำคัญ

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยแสดงตนว่าเป็นนายสอนเรืองเดช ผู้ช่วยเสมียนตรา โดยแสดงหนังสือปลอมที่จำเลยทำขึ้นและลงนามปลอมปลัดกระทรวงมหาดไทยและข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา มีความว่าศาลากลางจังหวัดพระนครขอให้ราษฎรช่วยออกเงินสมทบรัฐบาลเชื่อซื้ออาวุธ และตั้งให้นายสอน เรืองเดช ตำแหน่งผู้ช่วยเสมียนตรา และเจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ ออกไปทำการเรี่ยไรที่จังหวัดใกล้เคียงให้กำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยดูแล ถ้ากำนันผู้ใหญ่บ้านลูกบ้านคนใดไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิด และจำเลยพูดจาหลอกลวงนายยาผู้ใหญ่บ้านและราษฎรในอำเภอโนนไทยจังหวัดนครราชสีมาหลงเชื่อ ส่งเงินให้แก่จำเลยการรับเงินที่มีผู้ออกให้ตามที่จำเลยหลอกลวงนั้นจำเลยได้เขียนข้อความลงในใบรับเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นไว้เป็นอักษรตีพิมพ์ กรอกชื่อ อายุ ตำบลบ้านอำเภอ จังหวัด ของผู้ออกเงิน แล้วจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินว่า สอน เรืองเดช เขียนลงในช่องตำแหน่งว่า ผู้ช่วยเสมียนตรา ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๒๗,๒๒๔,๓๐๔,๓๐๖ ลดฐานปราณีตามมาตรา ๕๙ กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๙ เดือน
โจทก์อุทธรณ์ว่าใบรับเงินที่จำเลยปลอมเป็นหนังสือสำคัญในราชการ ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นและไม่ควรลดฐานปราณี ศาลอุทธรณ์เห็นว่าใบรับเงินที่จำเลยปลอมเป็นปลอมหนังสือราชการแต่ไม่ใช่หนังสือสำคัญ พิพากษาแก้ให้จำคุก ๓ ปี นอกนั้นยืน จำเลยฎีกาว่า ใบรับเงินที่จำเลยปลอมไม่ใช่เป็นปลอมหนังสือราชการ จำเลยทำขึ้นประกอบการหลอกลวง หาใช่เอาแบบมาจากหนังสือราชการที่เจ้าหน้าที่เรียบเรียงไม่ ใบรับนั้นจึงเป็นแต่หนังสือสำคัญ ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริง จำเลยตั้งใจปลอมใบรับเงินให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นใบรับเงินอันแท้จริงของผู้ช่วยเสมียนตรา เรียกได้ว่าจำเลยทำหนังสือปลอมขึ้นทั้งฉะบับ ตามกฎหมายอาญามาตรา ๒๒๒ (๑) ตำแหน่งผู้ช่วยเสมียนตราเป็นตำแหน่งในราชการของตำแหน่งนั้น ผิดตามมาตรา ๒๒๔ ฐานปลอมหนังสือราชการ ที่ว่าไม่ได้ปลอมหนังสือราชการเพราะไม่ได้ลักลอบเอาแบบมาจากหนังสือราชการที่เจ้าหน้าที่เรียบเรียงนั้น เห็นว่าการปลอมหนังสือราชการไม่จำต้องลักลอบเอาแบบมาจากหนังสือราชการเสมอไป เมื่อปรากฎว่าจำเลยปลอมหนังสือราชการ ก็มีผิดฐานปลอมหนังสือราชการได้ใบรับเงินที่จำเลยปลอม เห็นว่าไม่เกี่ยวแก่การตั้งกรรมสิทธิ์หรือหนี้สินและอื่น ๆ
ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญามาตรา ๖ ข้อ ๒๐ จึงพิพากษายืนตารมศาลอุทธรณ์

Share